บัญชี ม.กรุงเทพ ชูจุดเด่นบัญชีดิจิทัล ขานรับยุคเอไอเฟื่องฟู 5.0

คณบดีชี้โอกาสนักบัญชีไทยยังสดใส เป็นที่ต้องการของตลาดอีกมาก เตรียมพร้อมนักศึกษาของคณะบัญชีให้แข่งขันได้ในยุคเอไอเฟื่องฟู เน้นหลักสูตรบัญชีบัณฑิตที่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพบัญชีฯ และมีโปรแกรมการพัฒนานักบัญชียุคดิจิทัล ทำให้เป็นนักบัญชีที่สามารถสื่อสารได้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกองค์กร อีกทั้งยังทำงานร่วมกับบุคลากรด้านไอทีได้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อในโลกยุคแห่งเทคโนโลยี พร้อมฝึกงานจริง ลงมือจริง และมีผู้เชี่ยวชาญจากธุรกิจและวงการวิชาชีพบัญชีระดับคุณภาพอย่าง Big 4 มาร่วมสอน

และยังได้ศิษย์เก่าผู้บริหารจากภาคธุรกิจและแวดวงวิชาชีพปลื้ม เห็นพัฒนาการการเรียนการสอนของคณะที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป มั่นใจได้บัณฑิตคุณภาพ มีทักษะรอบด้านตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

กระแสในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปของสังคม เน้นไปทางดิจิทัลเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและวิทยาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาของเอไอ (AI) อย่างไรก็ตาม ดร.กรัณฑรัตน์ บุญญวัฒน์ คณบดีคณะบัญชี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยังมีความเชื่อมั่นว่า อาชีพนักบัญชียังเป็นที่ต้องการของตลาดเมืองไทยอยู่เพียงแต่เราจะต้องสร้างนักบัญชีที่มีศักยภาพสูงที่จะสามารถปฏิบัติงานได้ในโลกยุคใหม่ ซึ่งจุดเด่นของหลักสูตรคณะบัญชี ม.กรุงเทพที่จะทำให้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการที่ตลาดมองหา ได้แก่

  1. โปรแกรม Digital Accounting มีการจัดการเรียนการสอนด้านดิจิทัลมากถึง 7 วิชา เรียนตั้งแต่การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงการออกแบบระบบโปรแกรมที่เกี่ยวกับบัญชี การใช้โปรแกรมสำเร็จรูปด้านบัญชี ที่ใช้ในธุรกิจขนาดเล็กถึงใหญ่ เช่น SAP เป็นต้น เพื่อให้บัณฑิตของม.กรุงเทพ ออกไปเป็นนักบัญชีที่มีคุณภาพ ทันต่อโลก ปรับตัวได้ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในวิชาชีพได้อย่างชาญฉลาด และสามารถสื่อสารในบริบทสากลได้อย่างเหมาะสม
  2. การฝึกงานจริงกับองค์กรชั้นนำ การเรียนการสอนของคณะบัญชี ม.กรุงเทพ นักศึกษาทุกคนต้องฝึกงานจริง โดยมีทางเลือก คือ ฝึกตอนซัมเมอร์ระยะเวลา 3 เดือน หรือฝึกในเทอม 2 ของปี 4 เป็นระยะเวลา 4 เดือน เป็นลักษณะของสหกิจศึกษา โดยมีการจัดเก็บหน่วยกิตด้วย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสำนักงานสอบบัญชีระดับคุณภาพอย่าง Big 4 ที่เป็น  Professional firm ระดับนานาชาติด้วย ซึ่งหากนักศึกษาไปฝึกงานกับสำนักงานสอบบัญชี ยังสามารถนับชั่วโมงการฝึกงาน เพื่อเริ่มต้นสะสมให้ครบ 3,000 ชั่วโมง ในการมีคุณสมบัติเบื้องต้นไปสอบผู้สอบบัญชีรับอนุญาต จากสภาวิชาชีพบัญชีฯได้อีกด้วย
  3. การสอนโดยผู้เชี่ยวชาญตัวจริงจากภาคธุรกิจและวงการวิชาชีพบัญชี ในการเรียนการสอนของคณะบัญชี ม.กรุงเทพ ทางมหาวิทยาลัย ยังมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์จริงมากที่สุด จึงได้มีความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาคธุรกิจและรัฐ รวมถึงสำนักงานสอบบัญชีระดับโลกอย่าง Big 4 ส่งบุคลากรคุณภาพมาร่วมเป็นผู้สอนในวิชาเฉพาะทาง เช่น การสอบบัญชี การรายงานทางการเงิน วิทยาการข้อมูล และการวิเคราะห์สำหรับวิชาชีพบัญชี เป็น เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ฝึกการทำงานจริง และเข้าใจธุรกิจต่าง ๆ อย่างแท้จริง รวมถึงการได้มีโอกาสรู้จัก เรียนรู้จากประสบการณ์ และมุมมองทางธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ ที่จะเป็นต้นแบบที่ดีในการประกอบวิชาชีพต่อไปในอนาคตอีกด้วย

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราเปิดการเรียนการสอนมากว่า 60 ปี คณะบัญชีได้ผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดงานจำนวนมาก ในตลาดงานไปที่ไหนก็มักจะพบนักบัญชีที่จบจากม.กรุงเทพ ซึ่งถือว่าเราสามารถผลิตนักบัญชีคุณภาพให้กับตลาดงานได้ตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมาจนถึงปัจจุบัน และที่ผ่านมา บัณฑิตได้ทำงานเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์  นักบัญชียังสามารถประกอบวิชาชีพอิสระได้เช่นเดียวกับผู้จบหมอหรือวิศวะ สามารถเปิดสำนักงานของตัวเองได้ รับทำบัญชี รับสอบบัญชี หรือร่วมกับเพื่อนช่วยกันทำได้ ซึ่งผู้ที่ทำงานรูปแบบนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย”

ด้านดร.เกียรตินิยม คุณติสุข หุ้นส่วนสำนักงานด้านการสอบบัญชี บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด หนึ่งในบริษัทบัญชีชั้นนำของประเทศ ในฐานะศิษย์เก่าคณะบัญชี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันนักศึกษาที่เรียนจบสาขาบัญชี มีโอกาสความก้าวหน้าสูงในสายงานผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี เมื่อเทียบกับสมัยที่ตนเองเรียนจบมา โดยเฉพาะการเข้าทำงานในกลุ่มบริษัท Big4 ที่เปิดรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอกชนเพิ่มมากขึ้น และยังมีโอกาสสูงในการก้าวสู่ตำแหน่งหุ้นส่วนสำนักงาน ขณะเดียวกันนักศึกษาที่เรียนจบสาขาบัญชี ยังมีโอกาสและทางเลือกที่หลากหลายในการทำงาน เป็นทั้งนักการตลาด นักขาย นักการเงิน หรือมีธุรกิจเป็นของตนเอง เนื่องจากวิชาชีพด้านบัญชีเป็นพื้นฐานและหัวใจสำคัญในทุกธุรกิจนั่นเอง

ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ บัญชีก็เป็นหน้าต่างของโลกธุรกิจ เนื่องจากทุกกิจการไม่ว่าจะดำเนินโดยบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ทุกกิจการจะต้องจัดทำบัญชี เพื่อดูผลการดำเนินงานของ   แต่ละกิจการ ปัจจุบันผู้บริหารระดับสูงไม่ว่าจะเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือประธานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายการเงิน มีความจำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านบัญชี หากไม่เรียนจบสาขาบัญชีมาก็อาจจะต้องไปเรียนหลักสูตรระยะสั้นที่เกี่ยวข้องกับการบัญชีเพื่อเสริมความรู้ทางด้านบัญชีเพิ่ม” ดร.เกียรตินิยมเผย

สำหรับรูปแบบการทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในปัจจุบัน ถือว่ามีความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้นแตกต่างจากในอดีต เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือต่าง ๆ ทั้งคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์ที่มีเพิ่มมากขึ้น ต่างจากอดีตที่ทุกอย่างต้องทำด้วยมือทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีจำเป็นต้องมีทักษะความรู้ความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย  เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลให้ผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจ นอกจากนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพยังควรมีทักษะด้านการสื่อสารและการนำเสนอ เพราะเป็นอาชีพที่จะต้องมีการพบปะผู้คนและนำเสนอข้อมูลทางการเงินซึ่งเป็นภาพรวมของบริษัท

ในฐานะที่ตนเองเป็นศิษย์เก่าของคณะบัญชี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เห็นพัฒนาการของหลักสูตรการเรียนการสอน มีการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมและเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้ปรับปรุงหลักสูตร ด้วยการบูรณาการในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาผสมผสานในหลักสูตร รวมถึงการให้ความสำคัญกับการสื่อสารในบริบทสากล เป็นผลให้นักศึกษามีทักษะรอบด้านตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

อนึ่ง สถานการณ์ความต้องการแรงงานในสายอาชีพบัญชีพบว่าตลาดงานยังคงมีความต้องการบัณฑิต ที่เรียนจบจากสาขาบัญชีค่อนข้างสูง เนื่องจากปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน เพื่อประกอบธุรกิจเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ณ วันที่ 30 ธันวาคม 66 มีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศทั้งสิ้น จำนวน 830,317 ราย มูลค่าทุนมากถึง 21.70 ล้านล้านบาท เฉพาะที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือน มกราคม – ธันวาคม 2566 จำนวน 85,300 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 562,469.64 ล้านบาท แต่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตมีจำนวน ประมาณ 15,000 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่รวมผู้สอบบัญชีที่มีใบอนุญาตสิ้นผลและผู้สอบบัญชีที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในฐานะผู้สอบบัญชีด้วย นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้บริษัท นิติบุคคลต่าง ๆ ต้องมีผู้ทำบัญชี ส่งผลให้นักบัญชีขาดแคลนพอสมควร ซึ่งนักศึกษาที่เรียนจบบัญชีมาแต่ละปีเมื่อเทียบกับความต้องการของบริษัทต่าง ๆ ก็ยังถือว่าน้อยอยู่มาก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *