รมว.ศธ. แจงยกเลิกครูเวร “ครูไม่อยู่เวร ไม่มีความผิดทางวินัย” ประสาน ตร.-มท. ช่วยดูแลครู

‘บิ๊กอุ้ม’ แจงยกเลิกครูเวร ประสาน ตร.-มท.จัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจตราถี่ขึ้น เดินหน้าของบจ้างนักการภารโรง

เมื่อวันที่ 24 มกราคม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหาร ศธ.ว่า ที่ประชุมได้หารือกรณีคระรัฐมนตรี (ครม.) มีมติยกเว้นการอยู่เวรของครูในสังกัด ศธ. ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ รวมถึงสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลแม้จะมีกล้องวงจรปิดก็ไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้ ดังนั้น การให้ครูอยู่เวรนอกราชการก็ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยง ซึ่ง ครม.ได้พิจารณาถึงความเสียหายในชีวิตและร่างกายเป็นสำคัญ ที่จะต้องพยายามรักษาป้องกันไม่ให้เกิดภัยต่อชีวิตและร่างกายของครู ซึ่งมีภาระงานในการสอนหนังสือ

พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวว่า หลังยกเลิกมติดังกล่าว ครม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) เข้ามาช่วยดูแล ส่วนที่มีกระแสว่าเป็นการเพิ่มภาระให้ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะเป็นหน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองอยู่แล้วในการดูแลความสงบเรียบร้อย เช่น ธนาคาร ร้านทอง ที่ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยดูแลเป็นพิเศษ เพียงแต่อาจจะเพิ่มจุดเน้นเข้ามา ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องการดูแลความปลอดภัยของสถานที่

พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวต่อว่า ในส่วนของ ศธ.ก็ได้มีหนังสือประสานไปที่ ตร.และ มท.เรียบร้อยแล้ว เพื่อบูรณาการดูแลความปลอดภัย ส่วนในระดับจังหวัดก็ได้มอบหมายให้สำนักปลัด ศธ.แจ้งให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ในการเข้ามาดูแล อย่างไรก็ตาม การประสานงานดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินงานมีความรวดเร็วขึ้น ทั้งในระดับส่วนกลางและพื้นที่

“ขณะที่ในส่วนของสถานศึกษาก็ได้สั่งการให้มีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา โดยมีการเชิญตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาหารือมาตรการป้องกันความปลอดภัยให้กับสถานที่ราชการ เพื่อเป็นการรองรับมติดังกล่าว ส่วนเรื่องการอยู่เวร เมื่อ ครม.มีมติดังกล่าวออกมาแล้ว ครูที่ไม่อยู่เวรก็ถือว่าไม่มีความผิดทางวินัย เพราะได้รับการยกเว้นแล้ว จากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็จะต้องไปปรับแก้ระเบียบต่างๆ เพื่อรองรับมติ ครม.

หากครูจะมาทำงานที่โรงเรียนนอกเวลาราชการก็ให้เป็นไปตามความสมัครใจ โดยขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยส่วนบุคคลด้วย เช่น เข้ามาในห้องทำงานแล้วก็ควรล็อกประตูให้เรียบร้อย มีเพื่อนมาอยู่ด้วย เพราะเราห่วงเรื่องความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งไม่มีสิ่งที่จะมาทดแทนได้ ไม่เหมือนความเสียหายต่อทรัพย์สินที่บางทียังหาทดแทนได้ อยากให้ประชาชนได้เข้าใจ” พล.ต.อ.เพิ่มพูนระบุ

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า มติดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติทันที โดยที่ผ่านมาได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาอยู่แล้ว แต่เมื่อมีมติ ครม.เป็นสภาพบังคับ หน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศก็จะต้องดำเนินการด้วยความเข้มข้นมากขึ้น นอกจากนีจะมีการสำรวจโรงเรียนทั่วประเทศว่ามีกล้องวงจรปิดกี่แห่ง ส่วนจะต้องเพิ่มกล้องวงจรปิดให้กับโรงเรียนที่ยังไม่มีหรือไม่นั้น ต้องหารือร่วมกับอีกครั้ง เพราะแม้จะมีกล้องวงจรปิดการมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลก็เป็นสิ่งสำคัญ ช่วยป้องกันไม่ให้เหตุร้ายเกิดขึ้น

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ขณะที่บางโรงเรียนอยู่ห่างไกล ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต การมีกล้องวงจรปิดก็อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นลักษณะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจเยี่ยม คล้ายโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ เพียงแต่เพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคมและชุมชนที่จะต้องช่วยกันดูแลทรัพย์สินของส่วนรวม ส่วนการของบประมาณจัดจ้างธุรการ ภารโรง เพิ่มนั้น ก็เป็นเรื่องที่ยังต้องดำเนินการ เพราะเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าโรงเรียนขนาดเล็กมี “ครูน้อย” หากมีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำเข้ามาช่วยดูแลโรงเรียนก็จะเป็นการลดภาระครู คืนครูสู่โรงเรียน เพื่อให้ครูสอนหนังสือได้เต็มที่ โดยตั้งเป้าว่าจะต้องมีธุรการ ภารโรงครบทุกโรงเรียน ซึ่งนายกฯก็รับปากว่าจะดูแลเรื่องนี้ให้

ที่มา มติชน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *