สมศ. เผยกรอบประกันคุณภาพภายนอก ปี 2567 ชูแนวคิด 3 เน้น เน้นเทคโนโลยี เน้นลดภาระ เน้นการประเมินเพื่อพัฒนา

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เตรียมประกันคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้กับสถานศึกษาจำนวนกว่า 4,200 แห่ง ทั่วประเทศ ภายใต้กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา 2567-2571 โดยร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ภายใต้ 3 จุดเน้น คือ 1) การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการสนับสนุนการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ 2) ลดภาระของสถานศึกษา 3) ให้ความสำคัญกับการประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อพัฒนา และยกระดับคุณภาพ เพื่อช่วยส่งเสริมและแนะนำสถานศึกษาโดยมีจุดมุ่งหมายในการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย การสร้างคุณภาพผู้เรียนและพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานในทุกมิติ ทั้งผู้เรียน ครูผู้สอน สถานศึกษา

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สมศ. ตั้งเป้าประกันคุณภาพภายนอกให้กับสถานศึกษาจำนวน 4,200 แห่ง ได้แก่ การศึกษาปฐมวัย จำนวน 1,971 แห่ง ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 2,165 แห่ง สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ (โรงเรียนนานาชาติ) จำนวน 20 แห่ง และด้านการอาชีวศึกษา จำนวน 44 แห่ง

โดยรูปแบบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา พ.ศ.2567 – 2571 สมศ. ยังคงให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) ที่ สมศ. ได้พัฒนากรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษาร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาในทุกระดับและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของสถานศึกษา หน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการประกันคุณภาพ เพื่อกำหนดวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ภายใต้ 3 จุดเน้น ประกอบด้วย

1) การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการสนับสนุนการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ เพื่อเป็นการลดการใช้กระดาษ ประหยัดเวลาและอำนวยความสะดวกในการประเมินคุณภาพภายนอกให้กับหน่วยงานต้นสังกัด และสถานศึกษา โดย สมศ. ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้สนับสนุนการประเมิน เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน ซึ่ง สมศ.ได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดจำนวน 27 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ / กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / กระทรวงมหาดไทย / กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ในการพัฒนาเชื่อมต่อและใช้งานระบบบริหารจัดการรายงานประเมินตนเองของสถานศึกษา (e-SAR) ร่วมกันโดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน คือ สถานศึกษาจะจัดส่งรายงานประเมินตนเอง หรือ SAR ให้กับหน่วยงานต้นสังกัด จากนั้นหน่วยงานต้นสังกัดจะรวบรวมไฟล์ SAR ของสถานศึกษาจัดส่งเข้าสู่ระบบ e-SAR เพื่อจัดเก็บรายงานผลการดำเนินงาน ส่งผลให้หน่วยงานต้นสังกัดสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ ตลอดจนมีระบบการออกใบรับรอง (e-Certificate) ให้กับสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินและรับรองรายงานผลการประเมินเรียบร้อยแล้ว สามารถดาวน์โหลดใบรับรองได้ทันที เพื่อเป็นการลดการใช้กระดาษ และประหยัดเวลาตั้งแต่เริ่มการประเมินไปจนสิ้นสุดการประเมิน

2) ลดภาระของสถานศึกษา ตลอดจนการนำข้อมูลสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการ สมศ. ได้กำหนดวิธีการประเมินที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ รวมถึงจำนวนวันประเมิน (1-3 วัน) ซึ่งจำนวนวันในการประเมินจะแตกต่างกันตามบริบทสถานศึกษาแต่ละกลุ่ม แต่ละประเภท นอกจากนี้ในสถานศึกษาเดียวกันอาจมีการประเมินแบบ Hybrid (ผสมผสาน) ซึ่งอาจประเมินแบบทั้ง Onsite Visit และ Virtual Visit พร้อมกับการใช้แอปพลิเคชัน ONESQA-V ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ สมศ. พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้การประเมินคุณภาพภายนอกสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้การบันทึกข้อมูลทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดปัญหาการร้องเรียนในกรณีต่างๆ อีกทั้งในกรณีที่เกิดการร้องเรียนก็สามารถตรวจสอบประวัติการดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันได้ ซึ่งแอปพลิเคชัน ONESQA-V จะช่วยทำให้ สมศ. และหน่วยกำกับการประเมินคุณภาพภายนอกทราบการดำเนินงานของผู้ประเมินภายนอกพร้อมกัน ส่งผลให้งานการประเมินทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และเป็นการลดภาระและลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน

3) ให้ความสำคัญกับการประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อพัฒนา และยกระดับคุณภาพ Quality Improvement โดยกรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา พ.ศ.2567-2571 จะสอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายใน ซึ่ง สมศ. ได้มุ่งให้เป็นการประเมินเพื่อพัฒนา ให้สถานศึกษาได้ทราบระดับคุณภาพสถานศึกษาของตนเองในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับการประเมินในรอบที่ผ่านมา เพื่อที่จะสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับบริบทของแต่ละสถานศึกษา นอกจากนี้ สมศ. ยังเพิ่มเติมประเด็นด้านการประเมินเกี่ยวกับความเสี่ยง และความปลอดภัยในสถานศึกษามากขึ้น อาทิเช่น การดูแลผู้เรียนเพื่อป้องกันการออกกลางครัน การดูแลความเสี่ยงด้านต่างๆ ในสถานศึกษาที่อาจเกิดขึ้นทั้งอาคาร สถานที่ สภาพแวดล้อม การดูแลผู้เรียนในเรื่องของการ Bully หรือพฤติกรรมกลั่นแกล้ง รวมทั้งการดูแลเรื่องอาหาร โภชนาการ โรคระบาด ตลอดจนความปลอดภัยจากภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในสถานศึกษาที่เป็นปัญหาของสังคมในปัจจุบัน

ทั้งนี้รูปแบบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2567-2571 สมศ. ได้ให้ความสำคัญกับการให้ข้อเสนอแนะที่สถานศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาเพื่อให้สถานศึกษานำข้อเสนอแนะที่ได้รับไปปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพตามศักยภาพของแต่ละสถานศึกษา ซึ่งได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษาเกิดความตื่นตัวในการนำผลการประกันคุณภาพภายนอกไปใช้ นอกจากนี้ สมศ. จะเข้าประเมินสถานศึกษาทุกประเภทตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของ สมศ. ที่กำหนดให้ สมศ. ต้องประกาศเกณฑ์ล่วงหน้า 1 ปีการศึกษาก่อนดำเนินการประกันคุณภาพภายนอก เพื่อช่วยให้สถานศึกษามีเวลาในการเตรียมพร้อม โดย สมศ. มีจุดมุ่งหมายในการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ในการสร้างคุณภาพผู้เรียนและพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานในทุกมิติ ทั้งผู้เรียน ครูผู้สอน สถานศึกษา เพื่อให้ระบบการศึกษาไทยมีความเป็นสากล ดร.นันทา กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *