สรุปความคิดเห็น เกรดเฉลี่ยยังจำเป็นอยู่หรือไม่…ในการวัดผลความรู้

จัดอันดับ! ความคิดเห็น เกรดเฉลี่ยยังจำเป็นอยู่หรือไม่…ในการวัดผลความรู้ จากชุมชนชาว Eduzones  

สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้ชุมชน Eduzones ของเรา ได้รวบรวมผลสำรวจความคิดเห็นจากประเด็น เกรดเฉลี่ยยังจำเป็นอยู่หรือไม่…ในการวัดผลความรู้ จากโพล์ลการสำรวจความคิดเห็นด้านล่างนี้ 

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02xn7s7X8nswEsqj5gWBjHTRyG42E1fY5CYBVvik5jarzRxG2kegnY6PKVnK1Zz3gl&id=100064593707802&sfnsn=mo&mibextid=9R9pXO

โดยที่เราได้รวบรวมผลจากการแสดงความคิดเห็นและได้จัดอันดับหมวดหมู่ออกเป็น 3 อันดับ ดังนี้

อันดับที่ 1 เกรดเฉลี่ยยังจำเป็น ควรต้องมีเพื่อใช้วัดผลความรู้ต่อไป

ในการเรียนนั้น จะมีการทดสอบความรู้จากการที่เราเรียนไปทั้งหมด โดยการสอบเพื่อเก็บคะแนน จากนั้นจะนำคะแนนในแต่ละวิชามาคิดเป็น เกรดเฉลี่ย ตั้งแต่ 0.00 จนถึง 4.00 ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนมักจะใช้ในการตัดสินความเก่งหรือไม่เก่งของผู้อื่น หรือพ่อแม่หลายคนมักจะกดดันเด็ก ๆ ให้มีเกรดเฉลี่ยที่สูง ให้ทั้งเรียนพิเศษหรือกวดวิชาต่อจากการเรียนที่โรงเรียน แต่ใช่ว่าเกรดเฉลี่ยจะไม่มีความหมายใด ๆ เลย เกรดเฉลี่ยอาจบอกได้ถึงความขยัน ความถนัดในรายวิชานั้น ๆ หรือความตั้งใจได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นไม่ว่าจะสำคัญมากขนาดไหน เราก็ต้องทำทุกอย่างให้เต็มที่ เพื่อที่จะไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง โดยผลจากการสำรวจของชาวชุมชม Eduzones ได้แสดงความคิดเห็นว่าเกรดเฉลี่ยยังจำเป็น ควรต้องมีเพื่อใช้วัดผลความรู้ต่อไปมากที่สุดดังนี้ 

  • เกรดเฉลี่ย บ่งบอกถึงความตั้งใจและการเตรียมตัว

ในเรื่องของการเรียนนั้นเป็นเรื่องที่เราควรจะให้ความสนใจและใส่ใจเป็นอย่างมากถึงจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด การเรียนในส่วนของประถมปลายเข้ามอหนึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากที่เราไม่ควรมองข้ามเพราะเกรดเฉลี่ยที่ดีก็ย่อมช่วยส่งผลทำให้เรานั้นประสบความสำเร็จ เรื่องของการศึกษาต่อไม่ว่าจะเป็นชั้นมอต้นเข้ามอปลายหรือมหาลัยก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การเรียนที่ดีนั้นมีประโยชน์อย่างมากที่สุด เพราะไม่ว่าจะเรียนทั้งในประเทศหรือต่างประเทศก็เป็นเรื่องที่จะต้องตัดสินด้วยเกรดเฉลี่ยด้วยกันทั้งนั้น หลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ จะต้องให้ความสนใจและความสำคัญในการศึกษา ควรที่จะตั้งใจเรียนและตั้งใจหมั่นอ่านหนังสือเพื่อทบทวน เพราะการอ่านหนังสือทบทวนก็จะยิ่งทำให้เรานั้นประสบความสำเร็จได้มากขึ้นกว่าเดิม

  • เกรดเฉลี่ย คือ KPI ต้องมีมาตรเพื่อวัดค่าความสำเร็จ

การวัดและการประเมินในชั้นเรียนต้องอยู่บนพื้นฐานสองประการ ประการแรก คือ การวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียนโดยเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียนรู้ของนักเรียนในระหว่างการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง บันทึก วิเคราะห์ แปลความหมายข้อมูล แล้วนำมาใช้ส่งเสริมหรือปรับปรุงแก้ไขการเรียนรู้ของผู้เรียน และการสอนของครู การวัดและประเมินผลจึงมีความสัมพันธ์กันหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งการเรียนการสอนก็จะขาดประสิทธิภาพ จุดมุ่งหมายประการที่สอง คือ การวัดและการประเมินผลเพื่อตัดสินผลการเรียนซึ่งเป็นการสรุปผลการเรียนรู้ การสรุปผลการเรียนมีหลายระดับ เช่น เมื่อจบหน่วยการเรียน หรือจบรายวิชาเพื่อตัดสินคะแนน หรือให้ระดับผลการเรียน การรับรองความรู้ความสามารถของผู้เรียนว่าผ่านรายวิชาหรือไม่ ควรได้เลื่อนชั้นหรือไม่ ในการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียนที่ดีต้องให้โอกาสผู้เรียนแสดงความรู้ความสามารถด้วยวิธีการที่หลากหลาย และพิจารณาตัดสินผลการเรียนบนฐานของเกณฑ์ผลการปฏิบัติมากกว่าเปรียบเทียบระหว่างผู้เรียน

  • เกรดเฉลี่ย ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจระดับความสามารถของตนเอง

ในการทำการวัดและประเมินผลในชั้นเรียนให้มีประสิทธิภาพนั้น ครูจะต้องประเมินผู้เรียนและให้ข้อมูลย้อนกลับที่ชัดเจนแก่นักเรียน และต้องกระตุ้นให้นักเรียนรับผิดชอบการเรียนของตนเอง โดยใช้วิธีการประเมินตนเองว่าทำได้ตามเป้าหมายของการเรียนรู้หรือไม่ ถ้ายังไม่สำเร็จ นักเรียนต้องจะร่วมมือกับครูเพื่อให้ทราบว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถแก้ไขข้อบกพร่องของนักเรียน ทั้งนี้ครูก็อาจต้องปรับเปลี่ยนการสอนหรือการใช้สื่อหรือวิธีการต่าง ๆ จนกระทั่งนักเรียนสามารถเข้าใจหรือเกิดความรอบรู้ตามวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน

  • เกรดเฉลี่ย เป็นตัวช่วยส่งเสริมและชี้แนวทางของเด็ก

การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องสนใจเกรดว่าใครเก่งกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องมุ่งมั่นกับการเรียน เด็กจะต้องตั้งใจ ใส่ใจ และมีความอดทนที่จะฝึกฝน ยิ่งยากก็ต้องยิ่งฝึกฝน เพราะคือ mind set ที่เด็กทุกคนควรมี  และจะช่วยให้เด็กสามารถทำงานอะไรก็ได้ในโลกใบนี้ ควรจะต้องทำหรือเป็นในสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัด แต่จะต้องคอยติดตามว่า ความฝันนั้นเริ่มตั้งเป้าหมายอะไร เพราะความฝัน จะเดินทางมาสู่เส้นทางของความจริงได้ คน ๆ นั้นต้องรู้จักเอาความฝันมาตั้งเป้าหมายเพื่อให้เกิดเส้นทาง เส้นทางที่นำความฝันมาเจอกับความจริง ไม่เช่นนั้น จะเป็นแค่ความฝันตลอดไป

วิชาการหลาย ๆ อย่างที่เด็กไม่ถนัด อาจจะไม่ใช่ความฝัน แต่สามารถใช้วิชาเหล่านั้นเพื่อมาฝึกการตั้งเป้าหมายและวางแผนการเรียนในอนาคตต่อไป เกรดจึงเป็นแค่ 1 ในหลาย ๆ เครื่องมือที่ช่วยสะท้อนการทำงานของเด็กเพียงเท่านั้น ไม่ควรมีคุณค่าที่จะวัดค่าความเก่งของใคร โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ ถ้าคนมีความมุ่งมั่นอดทน มีเป้าหมาย มีความความฝัน รู้จักและเข้าใจตนเอง รู้จักและเข้าใจคนอื่น สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพจิตที่ดี ก็จะสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตและมีความสุขได้ ไม่ว่าจะเรียนที่ไหน หรือมหาวิทยาลัยไหนก็ตาม

อันดับที่ 2 เกรดเฉลี่ยยังจำเป็น แต่ควรเปลี่ยนวิธีวัดความรู้

 ผลการเรียน การสอบ หรือเกรด ของสังคมไทยมักเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ยิ่งใครได้เกรด หรือเกียรตินิยมมักจะได้รับโอกาสที่ดีมากกว่าในการทำงาน ได้รับโอกาสที่จะไปต่อยอดในเรื่องอื่น ๆ แต่นั่นคือความเป็นจริงที่ต้องยอมรับว่าเกรดดที่ดีมาจากความพยายามในการเรียน แต่ไม่ใช่ว่าคนที่ได้เกรดไม่ดีจะไม่มีความพยายามหรือตั้งใจแต่เพราะความพยายาม หรือความสามารถของแต่ละคนไม่เท่ากัน สังคมจึงชอบใช้เกรดเป็นตัวตัดสินบุคคลมากกว่าความสามารถที่แท้จริง ตั้งบรรทัดฐานว่าคนเกรดสูง คือคนดี คนเก่ง ส่วนคนเกรดไม่สูงคือ คนไม่เก่ง และ ไม่พยายาม แต่ในปัจจุบันมุมมองของสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลง เปิดใจรับคนที่เกรดไม่สูงมากขึ้น ไม่ได้มองแค่เกรด แต่มองที่ความสามารถของบุคคลนั้นมากกว่า ความคิดเห็นของชาว Eduzones บางส่วนจึงมองว่า เกรดเฉลี่ยยังจำเป็น แต่ควรเปลี่ยนวิธีวัดความรู้ โดยแบ่งออกได้ดังนี้  

  • เกรดเฉลี่ย ใช้เพื่อประเมินผล ไม่ใช่เปรียบเทียบ

เลิกเปรียบเทียบศักยภาพผลการเรียนของคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่งด้วยเกรดเฉลี่ย เพราะมันไม่สามารถเทียบได้ ความถนัดของแต่ละคนแตกต่างกัน การเอาเกรดมาเทียบกัน แล้วบอกอีกคน เก่งกว่าอีกคน ด้วยตัวชี้วัดนี้ จึงไม่สำเร็จ เพราะเหมือนเอาเด็กถนัดเลข มาเทียบกับเด็กถนัดภาษาอังกฤษ ซึ่งวัดค่าไม่ได้ เด็กบางคนถูกสอนแบบให้เปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นตลอดเวลา (social competition) เป็นการสร้างความกดดันทางสังคม และพยายามยัดเยียดให้เด็กภาคภูมิใจกับการเอาชนะคนอื่น ผ่านการสอนทั้งครู และครอบครัว ที่มักจะให้ค่ากับเด็กที่เรียนเก่ง มากกว่าเด็กที่ไม่สนใจเรียน โดยมักให้คำจำกัดความว่าพวกไม่เอาไหน ดังนั้นการปลูกฝังคุณค่าลักษณะนี้ หรือการแบ่งกลุ่มเด็กเรียนได้เกรดสูง กับเกรดต่ำออกจากกัน แล้วใช้คำว่า เด็กหัวดี เด็กหัวไม่ดี เป็นการสร้างความเชื่อฝังหัวเด็กไปในทางที่ผิด

เด็กที่ถูกยัดเยียดด้วยคำว่า “เก่ง” มาให้ตลอด เวลาผิดพลาดขึ้นมา ความรู้สึกมักจะยิ่งใหญ่มากสำหรับเขา กลายเป็นเขาไม่เก่งแล้วเหรอตอนนี้ รู้สึกตกต่ำ มีโอกาสฆ่าตัวตาย เพราะผิดหวัง หรืออาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้เลย

เด็กที่ถูกยัดเยียดด้วยคำว่า “ไม่เก่ง” มักถูกลดคุณค่ามาอยู่เสมอ ก็จะเป็นคนที่มีแนวโน้มไม่มั่นใจในตนเอง ไม่เชื่อในศักยภาพของตนเอง และคิดว่าตนเองห่วย ตามการปลูกฝัง จึงส่งผลเป็นแรงเสริมทางลบของหลายคนคือ การไม่พยายาม เพราะทำไปก็ไร้ประโยชน์ ในเมื่อตนเองเป็นได้แค่นี้

  • เกรดเฉลี่ยควรมี แต่ต้องมีตัวชี้วัดอื่น ๆ ร่วมด้วย

การประเมินผลตามสภาพจริง หมายถึง กระบวนการสังเกต บันทึกและการรวบรวมข้อมูลจากผลงาน วิธีการ หรือสิ่งที่ผู้เรียนปฏิบัติ เพื่อเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจต่อตัวผู้เรียน การประเมินผลตามสภาพจริง จะไม่เน้นการประเมินเฉพาะทักษะพื้นฐาน  แต่จะเน้นประเมินทักษะการคิดที่ซับซ้อนในการทำงาน ความสามารถในการ แก้ปัญหาและการแสดงออกที่เกิดจาการปฏิบัติในสภาพจริง  ในการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วย

วัดครบถ้วนตามจุดประสงค์การเรียนรู้ได้จริง วัดความสามารถทางความรู้ ความคิดได้จริง วัดความสามารถในการปฏิบัติได้จริง และวัดคุณลักษณะทางจิตใจได้จริง

วัดได้ตรงความเป็นจริง คือ สิ่งที่วัดได้นั้นเป็นข้อมูล เป็นการแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน  ทั้งความสามารถทางความรู้ ความคิด ความสามารถในการปฏิบัติและคุณลักษณะทางจิตใจ มีความคลาดเคลื่อนผิดพลาดน้อยที่สุด ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยความสามารถได้คะแนนสูง  ตัดความผิดพลาดที่ผู้มีความสามารถสูงกลับได้คะแนนน้อย

เลือกสรร คิดค้นเครื่องมือและเทคนิคการวัดผลที่เป็นการวัดพฤติกรรมที่แท้จริงที่แสดงออกซึ่งความสามารถของผู้เรียน ซึ่งอาจได้จากการสังเกตุพฤติกรรมผู้เรียน สังเกตจากการปฏิบัติภาระงาน ที่จัดให้ปฏิบัติในสถานการณ์ที่ผู้สอนจะกำหนด สังเกตจากร่องรอยหลักฐานผลการปฏิบัติภาระงานของผู้เรียน เป็นต้น

  • เกรดเฉลี่ยควรมี แต่ต้องยกเลิกการจัดลำดับที่

การจัดอันดับในห้องเรียนนำมาสู่การเปรียบเทียบ ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำ ทำไมจะต้องเปรียบเทียบเด็กที่ไม่เหมือนกันด้วยมาตรวัดหรือข้อสอบชุดเดียวกัน ซึ่งหลักคิดนี้ ถ้าจะนำมาใช้ให้ง่ายที่สุดคือการยกเลิกการจัดลำดับที่ในห้องเรียนก่อน หมายถึงระบบเดิมยังคงอยู่ การวัดสอบวัดระดับยังอยู่ เกรดยังอยู่ แต่ไม่ประกาศลำดับที่ ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องมีช่วงเฝ้าระวัง มีจังหวะ Ready –  Set – Go ให้คนหน้างานมีเวลาในการปรับตัวและทำความเข้าใจ ซึ่งนอกจากคุณครูแล้ว ผู้ปกครองเองก็ต้องทำความเข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงต้องเลิกการจัดอันดับ และต้องไม่ไปตั้งกลุ่มเพื่อจัดลำดับกันเอง ต้องเข้าใจว่าเด็กไม่ได้เป็นไปตามพัฒนาการเป๊ะ ๆ สมมติจะบอกว่าวันนี้ให้เด็กทั้งสามสิบคนในห้องต้องเขียนคำนี้ได้เหมือนกันทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น แทนที่จะเป็นการสอบตัดเกรด จึงควรเปลี่ยนเป็นการประเมินด้วยการเขียนบรรยาย ยกตัวอย่าง ประเทศฟินแลนด์จะประเมินเด็กด้วยการเขียนบรรยายว่าเด็กทำอะไรได้บ้าง ปีที่แล้วลูกคุณทำอันนี้ได้ ปีนี้ลูกคุณทำอันนี้ได้ วัดพัฒนาการของเด็กเปรียบเทียบปีที่แล้วกับปีนี้ โดยไม่ต้องไปวัดกับลูกคนอื่น ให้เด็กแข่งกับตัวเอง ผู้ปกครองเองก็สามารถติดตามได้ด้วยว่า พัฒนาการลูกเป็นอย่างไร ช้าหรือเร็วแบบไหน มันมาจากความเข้าใจพื้นฐานที่ว่าเด็กไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง

  • เกรดเฉลี่ยควรมี แต่ไม่ควรใช้คำนวณเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย 

GPA PR คือ การนำเอาคะแนนรวมของทุกวิชามารวมกัน หากการสอบเข้า มหาวิทยาลัยใช้ GPA PR เป็นเกณฑ์ตัดสินประมาณ 10% ของคะแนนทั้งหมด ก็จะทำให้เด็กมุ่งเรียนเพื่อเอาเกรดสูง ๆ แต่เนื่องจากหลักสูตรการศึกษา ในระดับมัธยมปลายเป็นหลักสูตรที่คุณภาพยังไม่มากพอ คือ เรียนซ้ำซากในบางวิชา ที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก และทำให้เด็กมีความทุกข์ เพราะการบังคับ ให้เด็กเรียนในบางวิชาที่เขาไม่ชอบและสร้างแรงกดดันต่อเยาวชน ทำให้เด็กเสียเวลาและโอกาสในการมุ่งที่จะพัฒนาศักยภาพสมอง ที่จำเป็นต่อชีวิตมากกว่าทำให้ชีวิตของเด็กขาดคุณภาพ จึงไม่ควรใช้เกรดเฉลี่ยเป็น indicator ในการตัดสินเข้ามหาลัย เพราะตัวเลขที่ออกมาไม่ได้เป็นมาตราฐาน ข้อสอบกลางภาคปลายภาคของแต่ละสถาบันก็ไม่เหมือนกัน รวมถึงดุลยพินิจของอาจารย์แต่ละท่านก็อาจไม่เหมือนกันไปด้วย

อันดับที่ 3 เกรดเฉลี่ยไม่จำเป็น เป็นเพียงแค่มายาคติที่ตั้งไว้

ความเก่ง ไม่ได้วัดที่เกรดเฉลี่ย ประเทศไทยให้ค่านิยมกับเกรด และปริญญา จนลืมคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เกรดเฉลี่ยไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จทางการศึกษาของเด็กไทย ด้วยปัญหาทั้งหมดที่เกิดจากการปลูกฝังในสถาบันการศึกษา หรือครอบครัว ที่ใส่ค่านิยมผิด ๆ ให้กับเด็ก ทั้งที่เกรดไม่ได้มีไว้เปรียบเทียบ หรือทำหน้าที่แยกประเภทคน หรือวัดคุณค่าของคนได้ แต่เราเอาสิ่งนี้ เป็นเครื่องมือชี้วัดพวกเขา กำหนดอนาคตความสำเร็จของเขา ไปจนถึงการสร้างชุดความคิดฝังหัวที่ทำให้พวกเขาเข้าใจผิดติดตัว แล้วเกิดการอบรมสั่งสอนคนยุคต่อไป ด้วยชุดความคิดทำให้มีความคิดเห็นของชาวชุมชน Eduzones บางส่วนมองว่า เกรดเฉลี่ยไม่จำเป็น เป็นเพียงแค่มายาคติที่ตั้งไว้ โดยแยกออกได้ดังต่อไปนี้

  • เกรดเฉลี่ยไม่ควรมี โดยใช้เกณฑ์ผ่านและไม่ผ่าน

เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ ผู้สอนต้องตรวจสอบความรู้ความสามารถที่แสดงพัฒนาการของผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง อีกทั้งยังต้องสร้างให้ผู้เรียนรับผิดชอบการเรียนรู้ของตนด้วยการตรวจสอบความก้าวหน้าในการเรียนของตนเองอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน โดยผู้สอนกำหนดเกณฑ์ที่ยอมรับได้ในการผ่านตัวชี้วัดทุกตัวให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา ให้ท้าทายการเรียนรู้ ไม่ยากหรือง่ายเกินไป เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินว่าสิ่งที่ผู้เรียนรู้ เข้าใจทำได้นั้น เป็นที่น่าพอใจ บรรลุตามเกณฑ์ที่ยอมรับได้ หากยังไม่บรรลุจะต้องหาวิธีการช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาสูงสุด การกำหนดเกณฑ์นี้ผู้สอนสามารถให้ผู้เรียนร่วมกำหนดด้วยได้ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันและสร้างแรงจูงใจในการเรียน การประเมินเพื่อการพัฒนาส่วนมากเป็นการประเมินอย่างไม่เป็นทางการ เช่น สังเกต หรือซักถาม หรือการทดสอบย่อย ในการประเมินเพื่อการพัฒนานี้ ควรให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนา จนผ่านเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ผู้เรียนแต่ละคนอาจใช้เวลาเรียนและวิธีการเรียนที่แตกต่างกัน ฉะนั้น ผู้สอนควรนำข้อมูลที่ได้มาใช้ปรับวิธีการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ อันจะนำไปสู่การบรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ในท้ายที่สุดอย่างมีคุณภาพ การประเมินเพื่อการพัฒนาจึงไม่จำเป็นต้องตัดสินให้คะแนนเสมอไป การตัดสินให้คะแนนหรือให้เป็นระดับคุณภาพควรดำเนินการโดยใช้การประเมินสรุปผลรวมเมื่อจบหน่วยการเรียนรู้และจบรายวิชา

  • เกรดเฉลี่ยไม่ควรมี เพื่อให้เวลาเด็กค้นหาตัวเองและทำในสิ่งที่ชอบ

เมื่อพ่อแม่คาดหวังให้ลูกเรียนได้เกรดเฉลี่ยที่ดีมากกว่าคนอื่น ชนะคนอื่น หรือมีความสามารถพิเศษที่แตกต่างและโดดเด่นที่สุด ถ้าเด็ก ๆ เหล่อนั้นทำไม่ได้ ก็จะโดนผู้ปกครองกดดันจนเด็กเครียดและคิดลบกับตัวเองว่าตัวเองไม่มีอะไรดี ทั้ง ๆ ที่จุดที่ดีที่สุดของคนทุกคนไม่เท่ากัน เราไม่ควรใช้บรรทัดฐานแค่บรรทัดเดียวมาวัด เด็กบางคนอาจเกิดมาเพื่อเป็นศิลปิน หรือนักวิทย์ที่ยิ่งใหญ่ เพียงแค่ยกเลิกการกดดันเด็ก และให้เขาเรียนรู้ที่จะรัก ที่จะชอบในสิ่งที่ทำด้วยตนเอง ให้เวลาเขา ส่งเสริมให้เข้าร่วมกิจกรรมในหลากหลายด้าน หากเขาได้เจอสิ่งที่เขาชอบและรู้สึกหลงใหลมากพอ จะก่อให้เกิดการพยายามลงมือทำจนได้ดีเอง แม้อาจจะมองว่ายังไม่สำเร็จ ยังไม่ถึงไหน แต่ก็ดีมากพอแล้วในจุด ๆ นั้น

  • เกรดเฉลี่ยไม่ควรมี แต่ใช้เกณฑ์คะแนน 0-100

เป็นการแปลความหมายของคะแนนเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ล่วงหน้า จะบอกถึงความสามารถของบุคคลเมื่อเทียบกับเกณฑ์ว่าทำอะไรได้บ้างและยังมีอะไรที่ทำไม่ได้ โดยมักจะใช้คะแนนดิบมาเปลี่ยนเป็นร้อยละของคะแนนเต็มแล้วให้เป็นสัญลักษณ์ วิธีนี้เหมาะกับแบบทดสอบแบบอิงเกณฑ์ ที่ครอบคลุมทุกเนื้อหาที่สำคัญตามวัตุประสงค์การศึกษา

  • เกรดเฉลี่ยไม่ควรมี เปลี่ยนเป็นการบันทึกผลงานและความสนใจเเต่ละรายวิชา

เด็กแต่ละคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน มีสิ่งที่สนใจไม่เหมือนกัน ดังนั้นเป้าหมายของการเรียนรู้จึงเป็นการพัฒนาตัวเองแบบ Personalized การจัดอันดับผลการเรียนด้วย GPA หรืออะไรก็ตาม ทำให้เด็กรู้สึกถูกเปรียบเทียบ ต้องรักษามาตรฐานกับผู้อื่นตลอดเวลา แล้วไม่โฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองสนใจและทำได้ดีอย่างเต็มที่ อีกประเด็นที่ต้องใส่ใจคือเรื่องการดูแลข้อมูลส่วนบุคคล หรือเรื่อง PDPA ที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ ทุกวันนี้ เพราะข้อมูลที่แสดงความอ่อนด้อย หรือทำให้เกิดการเปรียบเทียบเกิดการแพ้ชนะ และมีบุคคลที่สามมารับรู้ เป็นข้อมูลที่ต้องระมัดระวังในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไว้ก่อน ทั้งนี้ สิ่งที่ทางโรงเรียนควรประเมินอยู่เสมอ คือ แรงจูงใจและความพยายาม ตามด้วยทัศนคติของเด็ก และความสำเร็จในการเรียน เช่น ผ่านเกณฑ์ปานกลาง หรือมากกว่าที่คาดหวัง เป็นต้น โดยที่โรงเรียนต้องรู้ให้ได้ว่าเด็กแต่ละคน มีจุดเด่น มีความชอบ มีเรื่องไหนที่ทำได้ดี เพื่อผลักดันให้สำเร็จต่อไป

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการรวบรวมความคิดเห็นจากชุมชมชาว Eduzones เกี่ยวกับประเด็น เกรดเฉลี่ยยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ในการวัดผลความรู้ เพียงเท่านั้น สำหรับใครที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร สามารถนำมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันได้ภายใต้คอมเม้นต์โพสต์นี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานและตัวชี้วัด การวัดและประเมินผลในยุคนี้จึงมีบทบาทในการพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุมาตรฐานและตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมเกี่ยวกับผู้เรียน ผลการประเมินของครูต้องย้อนกลับสู่ผู้เรียน เพื่อให้ทราบว่าตนเองเรียนรู้ได้ระดับใด และต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะมีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานและตัวชี้วัดในหลักสูตร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *