ครุศาสตร์ มบส. MOU สพป.สุพรรณบุรี เขต 2 และ สพป.สมุทรสาคร

ครุศาสตร์ มบส. MOU สพป.สุพรรณบุรี เขต 2 และ สพป.สมุทรสาคร

ครุศาสตร์ มบส.ร่วม MOU สพป.สุพรรณบุรี เขต 2 และ สพป.สมุทรสาคร หวังช่วยแก้ปัญหาการอ่าน เขียน และคิดวิเคราะห์ของเด็ก พร้อมพัฒนานวัตกรรม “ชุดบทเรียนสำเร็จรูป”ยกระดับคุณภาพการศึกษา

ดร.เพ็ญพร ทองคำสุก คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางคณะครุศาสตร์ มบส. ได้ทำความร่วมมือทางวิชาการ(MOU) กับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)สุพรรณบุรี เขต 2 และ สพป.สมุทรสาคร ในโครงการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ด้านการอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับครูและนักเรียน ที่เป็นไปตามนโยบายของ ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งสอดคล้องกับ เป้าหมายหนึ่งของ SDGs ด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ ด้วยการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถช่วยติดอาวุธแก่ผู้คนในท้องถิ่นให้มีเครื่องมือที่จำเป็นในการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสู่การยกระดับสัมฤทธิผลของผู้เรียนและครูผู้สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมจำนวน 234 โรง แบ่งเป็นโรงเรียนในสังกัด สพป. สมุทรสาคร จำนวน 102 โรง และ สพป. สุพรรณบุรี เขต 2 จำนวน 132 โรง

ดร.เพ็ญพร กล่าวต่อว่า สำหรับสาระสำคัญของความร่วมมือดังกล่าว ทางคณะครุศาสตร์ มบส. จะเข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียนทั้ง 234 โรงเรียนในด้านต่าง ๆ เช่น การสร้างนวัตกรการศึกษา การปรับขนาดพื้นที่การศึกษา (Smart Area) รวมถึงความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานนานาชาติ (Share Experience & Conference) พร้อมทั้งช่วยการตีพิมพ์ผลงานครูและอาจารย์ เช่น การกำหนดผลลัพธ์การจัดโครงการระดับชาติและนานาชาติ การจัดเก็บฐานข้อมูลและรูปแบบการวิจัย (Data Based) การขยายสมรรถนะการเรียนรู้( Digital Board Extend) และการปรับระบบการออกเกียรติบัตรให้รับคนจำนวนมาก เป็นต้น

“หลังจากที่คณะครุศาสตร์ ทำ MOU กับทาง สพป.สุพรรณบุรี เขต 2 และ สพป.สมุทรสาคร ก็ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ทักษะการสร้างสื่อการสอน และเทคนิควิธีการสอน โดยผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีมาร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้สู่การยกระดับคุณภาพการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างมีระบบ และการวัดประเมินผลที่หลากหลายตามธรรมชาติของผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย อีกทั้งยังได้ศึกษาผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันการเรียนรู้ด้านการอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรณีศึกษา: โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านการอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์ อย่างไรก็ตามแนวโน้มในอนาคตทางคณะครุศาสตร์จะได้พัฒนานวัตกรรมการแก้ปัญหาชื่อว่า “ชุดบทเรียนสำเร็จรูป” เพื่อช่วยแก้ปัญหาการอ่าน การเขียน และการคิดวิเคราะห์ของเด็ก ซึ่งเบื้องต้นจะจัดทำเป็นหนังสือ VR ที่มีตัวการ์ตูนช้างน้อยใส่เสื้อดอกชงโค เป็นตัวนำเรื่องผ่านวิถีชีวิตในธรรมชาติที่แสนสนุกผสานความรู้และการโลดแล่นบนจินตนาการแห่งโลกความฝันเสมือนจริง”ดร.เพ็ญพร กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *