โรงเรียนร่วมมือกับผู้ปกครอง ร่วมต้านภัยโควิดสู่ภารกิจพัฒนาผู้เรียน

ข้อมูลจาก

สำนักนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัย

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

การสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองจะเป็นผลดีระยะยาว เนื่องจากทำให้โรงเรียนและผู้ปกครองมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เรามาดูกันว่าจากข้อมูลที่ทาง Eduzones นำมาเผยเเพร่จะกล่าวถึงประโยชน์เเละอุปสรรคในการสร้างความร่วมมือที่เข้มเเข็งเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพได้อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ทำให้เกิดความท้าทายต่อการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นอย่างมาก ผู้บริหาร ครู ต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ปรับบทบาทตนเอง รวมไปถึงการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการสอนออนไลน์และการสนับสนุนองค์ความรู้ในการรักษาสุขภาพของเด็กช่วงการระบาดของโรค COVID – 19 ในส่วนของผู้ปกครองต้องมีกิจวัตรประจำวันและรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้มีโอกาสในการอยู่กับลูกมากขึ้น โดยฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ลูกเรียนออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ Toran et al., 2021 และ Viner et al., 2020 ที่พบว่าในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรค COVID – 19 ทำให้การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในกระบวนการเรียนรู้ของลูกเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองกับโรงเรียน จะเป็นในรูปแบบของการประชุมผู้ปกครองประจำภาคการศึกษา และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน เช่น วันพ่อ วันแม่ วันเข้าพรรษา เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและใช้ระยะเวลาไม่นาน ทำให้การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับครูไม่ได้ใกล้ชิดกันมาก แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดของโรค COVID – 19 เข้ามา ทำให้ทุกห้องเรียนต้องมีไลน์กลุ่มระหว่างครูประจำชั้นกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อส่งข่าวสาร ส่งใบงาน ติดตามการบ้าน และติดตามพัฒนาการของเด็ก ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมให้ครูและพ่อแม่ผู้ปกครองได้สื่อสารกันมากขึ้น และควรจะรักษาปฏิสัมพันธ์เช่นนั้นไว้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการระบาดจะลดลงแล้วก็ตาม เนื่องจากงานวิจัยหลายฉบับมีข้อค้นพบว่า การมีส่วนร่วมในการเรียนของผู้ปกครองส่งผลต่อการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน ผลการเรียนจะอยู่ในระดับสูง ประสบความสำเร็จทางด้านวิชาการ (Sapungan & Sapungan, 2014; Garcia & Thornton, 2014; Lemmer, 2007; Mendez, 2010; Henrich & Gadaire, 2008; Ladd, Herald & Kochel 2006; Weiss, Caspe & Lopez, 2006) นอกจากนี้ จะเห็นได้ชัดว่าผู้เรียนที่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมจะมีความกระตือรือร้นและพร้อมเรียนรู้ (Bono et al., 2016) อีกทั้งการได้การสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากผู้ปกครองจะทำให้เด็กเกิดความพร้อม ทั้งด้านสติปัญญา ภาษา และพฤติกรรมทางสังคม (Ntekane, 2018)

ด้วยประโยชน์ของการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงควรจะสนับสนุนให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในหลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น จากการศึกษาแนวคิดของ Epstein ได้แบ่งการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองเป็น 6 ด้าน ได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูเด็ก (Parenting)การติดต่อสื่อสาร (Communication) การเป็นอาสาสมัคร (Volunteering) การเรียนรู้ที่บ้าน (Learning at home) การตัดสินใจ (Decision making) และการมีส่วนร่วมกับชุมชน (Collaborating with the community) ซึ่งแต่ละด้านจะมีแนวทางในการมีส่วนร่วมดังนี้

  • การอบรมเลี้ยงดูเด็ก (Parenting)

ผู้ปกครองควรสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัวด้วยการซักถามเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน สอดแทรกคุณธรรมในขณะที่พูดคุย ให้ช่วยเหลืองานบ้าน สอนทำการบ้าน ช่วยทบทวนในสิ่งที่ครูสอน อ่านหนังสือ และเล่านิทาน ฝึกให้เด็กมีพัฒนาการ ทั้งการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน โดยการจัดหาสิ่งจำเป็นพื้นฐานทางกายภาพสำหรับเด็กที่เอื้อต่อการเรียนรู้

  • การติดต่อสื่อสาร (Communication)

ผู้ปกครองควรเข้าร่วมประชุมผู้ปกครอง เพื่อรับฟังข้อมูลข่าวสารกิจกรรมของโรงเรียนทุกครั้ง มีโอกาสรับทราบข้อมูลความก้าวหน้าของเด็กในช่วงรับหรือส่งที่โรงเรียน มีช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ปกครอง ผู้บริหาร ครู และผู้ดูแลเด็ก อย่างสม่ำเสมอ

  • การเป็นอาสาสมัคร (Volunteering)

ผู้ปกครองควรช่วยเหลืองานของโรงเรียนตามกำลังความสามารถ เช่น การมีส่วนร่วมในการสอน
การอำนวยความสะดวกด้านอาคาร สถานที่ และสิ่งแวดล้อม

  • การเรียนรู้ที่บ้าน (Learning at home)

ผู้ปกครองควรเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กกำลังเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียนเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อส่งเสริมอย่างต่อเนื่องที่บ้านได้

  • การตัดสินใจ (Decision making)

ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในการประเมินของเด็กตามสภาพจริงร่วมกับครูผู้สอน รวมทั้งมีโอกาสในการประเมินกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงและวางแผนของโรงเรียน

  • การมีส่วนร่วมกับชุมชน (Collaborating with the community)

ผู้ปกครองควรส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กด้วยการพาไปเรียนรู้วัฒนธรรม หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่สำคัญ
ในชุมชน รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาและประเพณีของท้องถิ่น เชื่อมโยงให้ชุมชนและโรงเรียนมีการช่วยเหลือสนับสนุนกัน

อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในโรงเรียนยังพบปัญหาอุปสรรคในหลายด้าน เช่น ความไม่เชื่อใจระหว่างครูกับผู้ปกครอง ครูบางคนไม่อยากให้ผู้ปกครองเข้ามามีบทบาทมากเกินไป และไม่ได้มองว่าผู้ปกครองเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษา นอกจากนี้ ในพื้นที่ห่างไกล หรือ อาชีพของผู้ปกครองอาจเป็นปัญหาด้านการเดินทาง ผู้ปกครองไม่สะดวกในการมาร่วมประชุม หรือการประชุมจัดในช่วงเวลาที่ผู้ปกครองไม่สะดวก เนื่องจากต้องทำงาน เป็นต้น โรงเรียนจึงจำเป็นต้องหากลยุทธ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ครอบครัวได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน
สร้างบทบาทของผู้ปกครองให้เป็นผู้ประสานเพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโรงเรียนกับบ้าน สร้างการสื่อสารที่เข้มแข็งระหว่างครูและผู้ปกครอง เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองแสดงความคิดเห็นร่วมกันภายในโรงเรียน

นอกจากนี้นโยบายจากภาครัฐจึงมีความสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น เช่น ในต่างประเทศที่อนุญาตให้บิดามารดาใช้วันลาเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้ปกครอง/ครู หรือเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของลูกได้ โดยไม่คิดเป็นวันลา รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณสำหรับโรงเรียนที่มีกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง เป็นต้น เพื่อให้เด็กปฐมวัยทุกคนต้องได้รับการดูแล พัฒนา และเรียนรู้อย่างรอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยอย่างมีคุณภาพบนพื้นฐานของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุด อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็กปฐมวัยให้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่ : https://bit.ly/3AvdD1C

 

#สภาการศึกษาxEduzones #OECnews #OECAcademicArticle #สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา #สภาการศึกษา #การศึกษา #eduzones

 

📝OEC News สภาการศึกษา

• Website: http://www.onec.go.th

• Facebook: https://www.facebook.com/OECSocial

• YouTube: https://bit.ly/2zXPkxO

• LINE: @OECNews | http://line.me/ti/p/@OECNews

• Blockdit: https://www.blockdit.com/oecnews

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *