อว. นำวิทยาศาสตร์มาสู่เมือง เติมความรู้ ทุกเป้าหมาย ปลุกชีวิตคนไทย เปิดมุมมองใหม่ให้วิทยาศาสตร์ ค้นหาแรงบันดาลใจดีๆ ใน มหกรรมงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ครั้งที่ 16

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 นี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย อพวช. กำลังจะนำวิทยาศาสตร์มาไว้ใกล้ตัวในชีวิตประจำวันมากขึ้น เมื่อก่อนเราชอบมองวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัวเพราะด้วยด้วยภาพลักษณ์ต่างๆจากคำว่าวิทยาศาสตร์ แต่ทราบหรือไม่ว่าทุกอย่างรอบๆตัวคือวิทยาศาสตร์ ทั้งกระบวนการคิด การแก้ปัญหาต่างๆในชีวิตประจำวัน เริ่มจากปัญหา ต่อมาคือตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ วิเคราะห์ข้อมูล สรุปผล นั่นคือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับประเทศไทยต้องยอมรับว่าหน่วยงานวิทยาศาสตร์ขาดกระบวนการสื่อสารกับเด็ก เยาวชน และพี่น้องประชาชน แต่ในปี 2565 นี้มีความพิเศษสุดเพราะเรากำลังเปิดประเทศ พี่น้องประชาชนอยากกลับเข้าสู่บรรยากาศความสนุกสนานกันอีกครั้ง เราเชื่อว่าวิทยาศาสตร์จะปลุกชีวิตคนไทย จึงอยากให้ลุกขึ้นมาใช้ชีวิตใหม่ เปิดมุมมองใหม่กับวิทยาศาสตร์ ปรับแนวคิดว่าวิทยาศาสตร์อยู่รอบๆ ตัวเรา

ผศ.ดร.รวิน กล่าวอีกว่า กระทรวงอว. โดย อพวช. ได้จัดมหกรรมที่ มหกรรมงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ภายใต้แนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อสังคมที่ยั่งยืน (Art – Science –Innovation for Sustainable Society) โดยเน้นนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ทาง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสานกับศิลปะในมุมของการขับเคลื่อนพัฒนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ของประเทศ สอดรับกับนโยบาย “BCG Model : Bio – Circular – Green Economy” สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ณ อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 13 – 21 สิงหาคม 2565 ประกอบด้วย 5 นิทรรศการหลักที่จะนำเสนอประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน พร้อมส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวโดยมีกิจกรรมให้ผู้ใหญ่ร่วมสนุกกับลูกหลาน รวมถึงส่งเสริมให้เด็กกรักวิทยาศาสตร์ เรียนรู้ด้วยตัวเองและแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ที่สำคัญ เราอยากให้น้องๆ นักเรียนที่ไม่ได้สนใจ วิทยาศาสตร์ ลองมาดูมาศึกษา เพราะเชื่อว่าทุกๆกิจกรรมในงานจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจดีๆได้อีกมากมาย

กิจกรรมไฮไลท์ที่ห้ามพลาด อาทิ นิทรรศการ ลอดช่อง ส่องถ้ำ (Cave and Karst) จำลองถ้ำและคาสต์เพื่อเปิดพรมแดนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ เรียกได้ว่าสิ่งที่เราเห็นและสัมผัสในชีวิตประจำวันอาจจะมีเรื่องราว เบื้องลึกที่เป็นมากกว่าสิ่งที่เราได้เห็นและรู้จัก และที่พิเศษที่สุดกระทรวงอว. โดย อพวช. ได้กำหนดจัดกิจกรรมเพิ่มอีก 1 แห่งใจกลางกรุงเทพ ในชื่อ NST Fair Science Carnival Bangkok ในรูปแบบ Science Carnival จัดขึ้นที่สามย่านมิตรทาวน์ วันที่ 17 – 21 สิงหาคม 2565 เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มคนในชุมชนเมือง ให้สามารถเข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้ง่าย ผ่านศิลปะ ดนตรี และการนำเสนอที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพ กิจกรรมภายในงาน อาทิ Makers Science & Challenges กิจกรรมเวิร์กชอปสำหรับคนชื่นชอบการประดิษฐ์ เพื่อตอบสนองไอเดียของตัวเองสร้างแรงบันดาลใจ อย่างไม่มีขีดจำกัด จิตนาการสร้างสรรค์ความคิดประดิษฐ์ชิ้นงานที่ทำได้จริง ซึ่งเรามีการสนับสนุนการทำสตาร์ทอัพอีกด้วย รวมถึงยังมีองค์ความรู้จากอาหารทางเลือก และอิ่มอร่อยกับหลากหลายเมนูอาหารแห่งอนาคต ในลานกิจกรรม Chill & Shop

“เป้าหมายการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เราอยากเห็นคนไทยใช้วิทยาศาสตร์ดำเนินชีวิต เข้าถึง เข้าใจและนำใช้ประโยชน์กับตัวเอง รวมถึงการพัฒนาประเทศ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าในกลุ่มเด็กและเยาวชน มีความชื่นชอบในวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันตัวเลขในกลุ่มผู้ปกครองและครอบครัวกำลังเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้สูงอายุก็เริ่มเข้ามามีบทบาท ซึ่งเรามีแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ทั้งนี้เราอยากถ่ายทอดความหัศจรรย์ทางวิทยศาสตร์ ออกสู่สาธารณะให้เห็นวิทยาศาสตร์จะทำให้คุณภาพชีวิตดีและทำให้ประเทศพัฒนาขึ้น จึงอยากให้คนไทยรักและนำไปใช้ เรามีพิพิธภัณฑ์ที่มีองค์ความรู้ในด้านต่างๆมากมาย เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า และอื่นๆ นอกจากนี้ อพวช. ยังมีกิจกรรมที่สนุกนานอีกมากมายและยังสามารถสร้างอาชีพทำเงินได้อีกด้วย เช่น การสตาฟสัตว์ ,คอร์สเลี้ยงมดแดง ,คอร์สเรียนการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งสามารถติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/NSMThailand” และใครสนใจอยากจะเข้ามางานสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ https://registernstfair.com ผศ.ดร.รวิน กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *