อว.-อุทยานวิทยาศาสตร์ ติดอาวุธ “เอสเอ็มอี – สตาร์ทอัพ” ขนไอเดียมาอัพเกรดธุรกิจต่อยอดนวัตกรรม

เลขา รมว.อว. ปลื้ม “อุทยานวิทยาศาสตร์” ติดอาวุธให้ “เอสเอ็มอี – สตาร์ทอัพ” ในภูมิภาคด้วยนวัตกรรม ขนไอเดียมาทดลองวิจัยก่อนลงทุนจริง อัพเกรดธุรกิจต่อยอดนวัตกรรม เปิดเส้นทางทางสู่ความสำเร็จ ขยายผลสู่ฐานรากเกษตรกร เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ให้ท้องถิ่น  ดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำมาหากิน เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้ประเทศ

รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และประธานคณะทำงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ได้ร่วมกันชี้แจงถึงการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) ซึ่งมีทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่, อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น, อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.นครราชสีมา และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ จ.สงขลา โดยมีสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ทั้งหมด 44 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 14 มหาวิทยาลัย ภาคใต้ 10 มหาวิทยาลัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 9 มหาวิทยาลัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 9 มหาวิทยาลัย ภาคตะวันออก 1 มหาวิทยาลัย และภาคกลาง 1 มหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งหมดรวมมหาวิทยาลัยทั้งมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยกลุ่มราชมงคลมหาวิทยาลัยราชภัฎเพราะกระทรวง อว. ดูแลมหาวิทยาลัยทุกกลุ่ม

รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์กล่าวต่อว่า สำหรับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินงานโดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นี่มีแพลตฟอร์มสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า “Basecamp24” สร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและพร้อมผลักดันผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีอุทยานฯ คอยเป็นพี่เลี้ยงนำทางในทุกเส้นทางการเติบโตแบบ 24 ชั่วโมง เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดอย่างรวดเร็ว ด้วยกระบวนการบ่มเพาะ พัฒนาศักยภาพ ซึ่งนับเป็นการจุดประกายไอเดียต่าง ๆ ให้เหล่านักธุรกิจและได้ลงมือทำจริง ผ่านการอบรมสร้างองค์ความรู้ ให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ การจับคู่กับแหล่งทุน สร้างเครือข่ายธุรกิจ พร้อมมอบโอกาสต่าง ๆ ในการเติบโตอย่างยั่งยืนและประสบความสำเร็จ

รวมทั้ง โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovative Food Fabrication Pilot Plant) ที่ให้บริการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม สำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือสตาร์ทอัพ ที่ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้จำนวนมากขึ้น เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่ รวมทั้งเป็นสะพานเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัย เอกชน และภาคสังคม

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราสามารถใช้ประโยชน์ในหน่วยงานรัฐ เชื่อว่าจะมี เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ จำนวนมากที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์กับ อุทยานวิทยาศาสตร์ เราอย่าเพียงแค่เรียน หรือศึกษาวิทยาศาสตร์ หรือศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างเดียว เราต้องทำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยทำมาหากิน เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ในประเทศ” รศ.พิเศษ ดร.ดวงฤทธิ์  กล่าว

ด้านผศ.ดร.ธัญญานุภาพ  กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์คือนิคมวิจัยพัฒนา เปรียบเหมือนกับนิคมอุตสาหกรรมที่มีบริษัทผลิตสิ่งของไปขาย ส่วนนิคมวิจัยเพื่อพัฒนาหรืออุทยานวิทยาศาสตร์คือการที่บริษัทมาอยู่กับนักวิจัยมาอยู่กับมหาวิทยาลัยได้ผลงานนวัตกรรมเข้าสู่ตลาด หลักการสำคัญของอุทยานวิทยาศาสตร์ คือการให้เป็นประตูในการเข้าถึงทรัพยากรที่ประเทศชาติลงทุนแล้วในมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถนำพาภาคเอกชน ภาคประชาสังคมเข้าไปใช้ประโยชย์งานวิจัย ห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัย ร่วมกับนักวิจัยเพื่อทำให้เกิดผลทางด้านการสร้างนวัตกรรมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมาณ 7,000 บริษัท ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามกระทรวง อว. มีหน่วยงานมากมายที่พร้อมให้ทุนสนับสนุน แทนที่เอกชน หรือผู้ประกอบการต้องจ่าย 100 เปอร์เซ็นต์ บางกิจกรรมวิจัยมีทุนสนับสนุนถึงร้อยละ 50 แล้วแต่กรณี

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการทำงานในฐานะตัวกลางระหว่างมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการ วิธีแรกคือการถ่ายทอดเทคโนโลยี นำงานวิจัยที่มีมาอัพเกรดแล้วส่งต่อถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการนำไปทำธุรกิจ วิธีที่สอง ผู้ประกอบการสามารถส่งโจทย์มาให้เรา จากนั้นเราจะไปหานักวิจัยมาช่วยได้ วิธีที่สาม เราเป็นหน่วยงานหนึ่งในการสร้างสตาร์ทอัพ ธุรกิจที่คนรุ่นใหม่อาจไม่ได้มีครอบครัวเป็นนักธุรกิจ แต่มีไอเดีย สนใจเทคโนโลยี สามารถมาสตาร์ทอัพกับเราได้ ทั้งนักศึกษา ศิษย์เก่า หรือใครก็ตามที่สนใจ แต่ต้องมีไอเดีย และใช้เทคโนโลยี สุดท้ายที่เราคือนำงานวิจัย องค์ความรู้ไปช่วยภาควิสาหกิจชุมชน ภาคประชาสังคม ทั้งนี้กลไกวิทยาศาสตร์ที่ อว. สนับสนุน ก็คือการนำสิ่งที่รัฐบาล หรือประเทศชาติมาลงทุนเพื่อ นำไปสู่การใช้ประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจ ในพื้นที่ ในภูมิภาคมันหมุนด้วยความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรม นั่นคือหัวใจของประเทศชาติที่เราต้องการ ทั้งนี้ สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 0 5394 8678 อีเมล: info@step.cmu.ac.th FB: https://www.facebook.com/cmustep Website: www.step.cmu.ac.th ” ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ  กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *