พบเด็กหลุดระบบการศึกษาเพราะยากจนเฉียบพลัน ชี้ต้องแก้ปัญหาถึงพ่อแม่! — 21 มิถุนายน 2565

พบเด็กหลุดระบบการศึกษาเพราะยากจนเฉียบพลัน ชี้ต้องแก้ปัญหาถึงพ่อแม่! — 21 มิถุนายน 2565
พบเด็กหลุดระบบการศึกษาเพราะยากจนเฉียบพลัน ชี้ต้องแก้ปัญหาถึงพ่อแม่! — 21 มิถุนายน 2565

 

ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวในเวทีเสวนา “เปิดเทอมใหม่ ยังมีเด็กไปไม่ถึง…โรงเรียน” ซึ่งจัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า เมื่อปีการศึกษา 2563-2564 พบเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,000 คน จึงได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้าติดตามพาน้องกลับมาเรียน ส่งผลให้ปัจจุบันมีนักเรียนที่ยังไม่สามารถกลับเข้าระบบการศึกษาได้เพียง 17,000 คน โดย ศธ.ได้ตั้งศูนย์ประสานงานตามน้องกลับมาเรียน ติดตามเด็กกลุ่มนี้ให้กลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ ทุกหน่วยงาน ทั้งกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ ต้องร่วมกันดูแลอย่างเป็นระบบ ไปจนถึงตัวผู้ปกครอง

 

ด้าน นายปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย จ.นนทบุรี กล่าวถึงกรณี น้องนนท์ (นามสมมุติ) นักเรียนชั้น ม.1 ที่เคยเรียนโรงเรียนเอกชนสองภาษา มีผลการเรียนระดับดีมาก แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ครอบครัวยากจนเฉียบพลัน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ทำให้น้องนนท์ไม่มีสิทธิสอบ ไม่มีสิทธิเข้าเรียน จนต้องหลุดจากระบบไป 1 ปีการศึกษา และเมื่อเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ได้ 1 เดือนแล้ว ยังไม่ได้กลับไปเรียน ทั้งนี้ จะนำน้องนนท์กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ด้วยการใช้ “ไทรน้อยโมเดล” โดยทำงานร่วมกันกับศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กสศ.ด้วยแนวทางรับเด็กเข้าเรียนทันที เพราะเวลาที่ผ่านไปยิ่งทำให้เด็กเสียโอกาส ปัญหาที่โรงเรียนเก่าค่อยแก้ไขภายหลัง ส่วนค่าใช้จ่ายรายหัว ค่าหนังสือ และอื่นๆ ทางโรงเรียนไม่ได้คำนึงถึงตรงนี้ เพราะนำไปเฉลี่ยกับเด็กทั้งหมดได้ ขณะนี้น้องนนท์ได้กลับมาเข้าเรียนต่อในระดับ ม.2 แล้ว

ในขณะเดียวกัน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การพาน้องกลับมาโรงเรียนได้ จะได้รับการดูแล และสวัสดิการต่างๆ ที่รออยู่ที่โรงเรียน เช่น ทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ทุนเสมอภาค นมโรงเรียน อาหารกลางวัน ซึ่งครอบครัวได้รับประโยชน์ตรงนี้ด้วย โรงเรียนจึงเป็นพื้นที่ที่มีความหมายมากกว่าการไปเรียนหนังสือ ดังนั้น การพาเด็กกลับมาได้นับแสนคน จึงถือว่าเป็นคุณูปการต่อตัวเด็ก ครอบครัว และสังคม ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ในระยะยาว โดย กสศ.ร่วมกับโรงเรียน 17,432 แห่ง 4 สังกัด ซึ่งเป็นโรงเรียนเดิมที่นักเรียนยากจนพิเศษ ช่วงชั้นรอยต่อ เคยศึกษาในภาคเรียนที่ 2/2564 เพื่อติดตามสถานะการศึกษาต่อของนักเรียน และให้กลับมารับทุนการศึกษาลมหายใจเพื่อน้องที่โรงเรียน เนื่องจากครูมีประสบการณ์ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ติดตามนักเรียนกลุ่มดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า หลังเปิดเทอม ยังมีเด็กจำนวนมากที่ไปไม่ถึงโรงเรียน หนึ่งในปัญหาที่สำคัญคือความยากจนเฉียบพลัน โดยข้อมูลจากการสำรวจพบว่า นักเรียนในกรุงเทพฯ ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมประมาณ 37,000 บาทต่อคน ต่างจังหวัดประมาณ 17,800 บาทต่อคน ดังนั้น ถ้าไม่ช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจให้ผู้ปกครอง โอกาสที่เด็กกลุ่มนี้จะได้ไปต่อก็ยากขึ้น และยังพบว่าเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดสูงนั้น จะมีปัญหามากกว่า 1 เรื่อง ทั้งเศรษฐกิจ ครอบครัว การหย่าร้าง และสุขภาพ โดยตัวอย่างการทำงานในหลายพื้นที่ของโครงการพาน้องกลับมาเรียนในวันนี้ ทำให้เห็นว่าลดความเหลื่อมล้ำได้จริง แต่หลังจากนี้ต้องมีนโยบายช่วยป้องกันไม่ให้เด็กหลุดซ้ำ เพราะขณะนี้ดึงกลับมาได้แล้วกว่า 2 แสนคน ต้องหาทางประคับประคองไม่ให้กลุ่มนี้หลุดซ้ำ สิ่งที่ช่วยได้คือเรื่องของทุน การมีงานทำ และการมีครูที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤต

“ทุกปัญหาในครอบครัว ผลกระทบทุกอย่างตกไปอยู่ที่ตัวเด็กทั้งหมด ดังนั้น การแก้ปัญหา จึงต้องเข้าไปแก้ปัญหาถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงมีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ที่ต้องกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันในการดูแล และในภาวะแบบนี้ ควรต้องพลิกมุมมองจากการดูแลเด็กจากเด็กเก่ง และดี เป็นดูให้เด็กรอด และต้องบูรณาการการทำงานของ 4 กระทรวงในทุกๆ พื้นที่ โดย กสศ.จะทำหน้าที่ป้องกันให้พ้นวิกฤต แล้วส่งต่อให้จังหวัดดูแลต่อในระยะยาว” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : มติชน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *