หลักสูตรระยะสั้น แก้ไขปัญหาจำนวนนักศึกษาลดลงในรั้วมหาวิทยาลัย

จากอัตราการเกิดจำนวนประชากรที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อสถาบันการศึกษาประเทศไทยได้ในอนาคต เพราะสถาบันการศึกษาในระดับชั้นต่างๆ ต้องอาศัยนักเรียน นิสิตและนักศึกษาปริมาณจำนวนสัดส่วนมากพอในการดำเนินกิจการ ปรากฎการณ์การควบรวมมหาวิทยาลัยในบางพื้นที่เข้าด้วยกัน รวมถึงข้อจำกัดในการปรับตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีจำนวนนักศึกษาแรกรับไม่ถึง 500 คน สถานศึกษาบางแห่งอาจมีความเสี่ยงสูงที่อาจต้องปิดตัวลงในอนาคต มหาวิทยาลัยในประเทศจึงทำการปรับตัววางกลยุทธ์ในรูปแบบต่างๆมากมาย เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่และทันต่อโลกยุคดิจิทัล

ดร.สุทธิภัทร อัศววิชัยโรจน์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด เปิดเผยว่า “ในสถานการณ์ที่มีจำนวนนักเรียน นักศึกษาลดน้อยลงในปัจจุบัน สิ่งที่โรงเรียนหรือ มหาวิทยาลัยควรปรับตัวรับมือ คือ การทำหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) เพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเรียนการสอนกับ กลุ่มผู้สูงอายุ (Silver Age) หรือกลุ่มคนวัยทำงาน เนื่องจากปัจจุบันจะเห็นได้ว่าในต่างประเทศจะมีหลักสูตรที่พัฒนาตนเอง (Self-Development) ที่เน้นให้กับคนวัยทำงานและผู้สูงอายุที่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องหลังจากที่เรียนจบหลักสูตรไปแล้ว เช่น ในกรณีประเทศสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยในระดับชาติของสิงคโปร์ ได้ผันตัวเองในการพัฒนาหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรระยะสั้นหรือ Short Course เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตนเองสำหรับผู้สูงอายุหรือคนวัยทำงานที่อยากพัฒนาความสามารถทางด้านการทำงานหรือทางด้านประสบการณ์ต่างๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา หรือความถนัดเฉพาะทางวิชาชีพ ซึ่งสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้และสามารถได้ใบรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชานั้นๆ ซึ่งทำรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนชั้นนำดังกล่าวได้เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการจัดหลักสูตรระยะสั้นแล้วมหาวิทยาลัยควรมีแนวทางในด้านการจัดหาแหล่งเงินทุนจากการทำวิจัยและการให้คำปรึกษากับสถาบันต่างๆ จากแหล่งเงินทุนภายนอก เช่น ทุนวิจัยจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยใช้ความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย เช่น เป็นที่ปรึกษาในการประกอบธุรกิจหรือให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจต่างๆ  ซึ่งในต่างประเทศพบว่ารายได้หลักของมหาวิทยาลัย มาจากทุนวิจัยจากแหล่งเงินทุนภายนอกเป็นส่วนใหญ่หรือมีขนาดเกือบ 70 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยในมหาวิทยาลัยนานาชาติระดับโลก รายได้ดังกล่าวก็สามารถนำมาพัฒนามหาวิทยาลัยและเป็นทุนวิจัยการเรียนการสอนให้นักศึกษาในการเรียนต่อในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก โดยสามารถให้เป็นทุนการศึกษาโดยให้นักศึกษามาช่วยทำวิจัยค้นคว้า และถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของนักศึกษาสำหรับค่าเทอมได้เช่นเดียวกัน”

“ด้านหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ควรปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการทำหลักสูตรให้มีความเหมาะสมตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และศึกษาถึงแนวโน้มที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น ในกรณีของต่างประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาปรับใช้ จะเห็นได้ว่ามีการใช้หลักสูตรทางด้าน Data Science, Programming, Coding ฯลฯ ที่สามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีต่อไป โดยปัจจุบันแนวโน้มแรงงานทางด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร กำลังขาดแคลน เนื่องจากต้องอาศัยองค์ความรู้ในรูปแบบใหม่ ดังนั้นการที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงตัวเองควรจัดทำหลักสูตรให้มีความเหมาะสมและดูกระแสของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลา”  ดร.สุทธิภัทร กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *