คณบดีโลจิสติกส์ สวนสุนันทา ชี้โควิด-19 ตัวเร่งปรับการเรียนการสอนครั้งใหญ่ นักศึกษาขานรับมั่นใจเรียนโลจิสติกส์ไม่ตกงาน

คณบดีโลจิสติกส์สวนสุนันทา ชี้สถาบันการศึกษาไทยต้องปรับตัวตามสถานการณ์อย่างเร่งด่วน เหตุหลายปัจจัยเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ตลาดแรงงานต้องการคนที่มีทักษะพร้อมที่สุด จบแล้วทำงานได้เลย มั่นใจ “สวนสุนันทา” พัฒนาหลักสูตรทันยุค ตอบโจทย์ครบถ้วน ด้านนักศึกษาสุดมั่นใจในยุคนี้เรียนโลจิสติกส์จบแล้วไม่ตกงาน

ดร.ฉัตรรัตน์ โหตระไวศยะ คณบดีวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวรายการวันใหม่วาไรตี้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในประเด็นการปรับตัวของสถาบันการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด -19

โดยคณบดีวิทยาลัยโลจิสติกส์ฯ กล่าวถึงหลักสูตรการเรียนในปัจจุบันว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยท่านอธิการบดี รศ.ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ มีนโยบายในการปรับตัวเพื่อให้หลักสูตรมีความสอดคล้องกับตลาดแรงงานอยู่ตลอดเวลา เมื่อก่อนการศึกษาของไทยเราส่วนใหญ่จะเน้นทฤษฎีมากกว่าการปฏิบัติ แต่ในยุคนี้ทั้งผู้ประกอบการและผู้เรียนต่างมีความต้องการพัฒนาทักษะด้านการปฏิบัติจริงให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นรายวิชาต่าง ๆ จึงเปลี่ยนไปให้ตรงกับความต้องการ  ปัจจุบันวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ก็มุ่งเน้นในการเรียนภาคปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยมีศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ด้านโลจิสติกส์ ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ให้จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมมาตรฐานฝีมือแรงงานของคนไทยได้พัฒนามากยิ่งขึ้น

ส่วนการเพิ่มทักษะให้กับนักศึกษาเพื่อให้สามารถจบออกไปทำงานได้อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นนั้น ดร.ฉัตรรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันหลายองค์ต้องการบุคลากรที่มี ‘Soft Skills’ มากขึ้น คือ มีลักษณะอุปนิสัยที่ดี มีความเป็นผู้นำ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีและมีประสิทธิภาพ มีทักษะการเจรจาและความรู้ด้านไอทีในวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

“ จะเห็นได้ว่าการศึกษาปัจจุบันมีการปรับกันเยอะมาก ผู้ประกอบการก็มีการสร้าง Academy คือสถาบันการศึกษาเฉพาะทางที่ตนเองต้องการสร้างบุคลากรขึ้นมา เราจึงเห็นโอกาสในการเข้าร่วมพัฒนาความรู้ไปกับหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้ เช่นเข้าไปทำ content หรือการจัดการอบรม สัมมนา หรือส่งคณาจารย์ร่วมในการเรียนการสอน ผลที่ได้รับก็คือวิทยาลัยโลจิสติกส์ฯมีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสามารถพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น”

ส่วนปัญหาการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ดร.ฉัตรรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาการว่างงาน มาจากการที่ผู้เรียนมีทักษะวิชาชีพที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน  ยุคนี้ใบปริญญามีความสำคัญน้อยลงมาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา  รวมทั้งวิทยาลัยโลจิสติกส์ฯ จึงเน้นพัฒนาจุดนี้เป็นสำคัญ เพื่อให้นักศึกษามีฝีมือแรงงานที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นในการทำงาน เพราะฉะนั้นนักศึกษาที่จบจากสวนสุนันทา จึงไม่ได้แค่ใบปริญญาเท่านั้น แต่ยังมีใบประกาศจากมาตรฐานฝีมือแรงงาน microsoft office และทักษะ soft skill ซึ่งตรงตามความต้องการของหน่วยงานและผู้ประกอบการต่าง ๆ อย่างครบถ้วน

ด้านนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ทั้ง 6 คนคือ น.ส.วรนุช บุสบงษ์ นักศึกษาแขนงวิชาธุรกิจพาณิชยนาวี น.ส.อริสรา ศรชัย นักศึกษาแขนงวิชาการจัดการการขนส่งสินค้าทางอากาศ น.ส.ทิวาวรรณ สืบสุขสถาพร นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์สำหรับธุรกิจออนไลน์ น.ส.อมลวรรณ เนียมชาวนา นักศึกษาแขนงวิชาการจัดการการขนส่ง น.ส.อลิชา แบ่งเพชร นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ และ น.ส.สุชัญญา เกตุบางลาย นักศึกษาสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ (หลักสูตรนานาชาติ) ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การเรียนที่วิทยาลัยโลจิสติกส์ฯ จนถึงปีสุดท้าย ไม่มีความกังวลเรื่องการตกงาน เพราะที่นี่เตรียมความพร้อมทุกด้านเพื่อให้นักศึกษามีงานทำ อาทิ การทำความร่วมมือในการฝึกงานและการรับเข้าทำงานในบริษัทหรือองค์กรชั้นนำของประเทศ มีการแนะนำข้อมูลในการเรียนและการทำงานให้ทราบอยู่เสมอ ๆ จึงมั่นใจว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะมีงานรองรับอย่างแน่นอน

ส่วนคำถามที่ว่า การเรียนในปัจจุบันตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนหรือสามารถนำไปต่อยอดในการทำอาชีพจริงได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ทุกคนกล่าวว่า การเรียนปัจจุบันน่าจะเพียงพอต่อการทำงานในอาชีพต่าง ๆ รวมทั้งการทำงานในทุก ๆ องค์กร เพราะการเรียนการสอนนอกจากความรู้พื้นฐานแล้ว ยังมีการนำกรณีศึกษาในบริษัทและองค์กรต่าง ๆ มาให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์เพื่อเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น ส่วนทักษะที่อยากให้สถาบันการศึกษาเพิ่มเติมให้มากที่สุดก็คืออยากเรียนรู้ด้านการปฏิบัติจริง จากสถานที่จริง ได้ทำเอกสารแล้วนำไปใช้ในการทำงานจริง ๆ มากยิ่งขึ้น เพราะหากเราทำได้ดีก็จะมีแนวทางพัฒนาต่อ ๆ ไป แต่ถ้าทำแล้วมีปัญหา เราก็จะได้หาวิธีแก้ไขไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีก

สุดท้าย นักศึกษากลุ่มนี้ กล่าวถึงสถานการณ์ โควิด – 19 ที่ส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้านรวมถึงเรื่องงาน ซึ่งทุกคนต่างยอมรับว่า มีผลต่อการเรียนอย่างมาก จากที่ได้มาเรียนในสถาบัน แต่กลับต้องเรียนออนไลน์แทน และก็ต้องยอมรับในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนแนวทางที่จะช่วยเติมเต็มความรู้ก็คือ ควรจะหาความรู้เพิ่มเติมจากสื่อออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงต้องมีการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะด้านการทำงานและอาชีพต่าง ๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความรู้เพิ่มเติมเหล่าน่าจะช่วยให้เรามีความพร้อมเข้าสู่การทำงานมากยิ่งขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *