คุยกันเรื่องจิตจิต? – รีวิวสาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่ไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนเท่านั้น!

คุยกันเรื่องจิตจิต? - รีวิวสาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่ไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนเท่านั้น!
คุยกันเรื่องจิตจิต? – รีวิวสาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

“เครียดหรอ? ไปหาจิตแพทย์สิ?”

“เรียนจิตวิทยางี้ก็รู้หมดเลยสิว่ามีฝ่ายคิดอะไรอยู่?”

อีกหนึ่งความสับสนระหว่างจิตแพทย์? จิตวิทยา? วันนี้พี่ออมจะพาน้อง ๆ ไปพูดคุยกับรุ่นพี่ที่เรียนสายตรงด้านจิตวิทยาเพื่อทำความรู้จัก เคลียร์ทุกความเข้าใจเกี่ยวกับสาขาจิตวิทยา ที่ครอบคลุมไปจนถึงชีวิตในมหาวิทยาลัย สภาพแวดล้อมและสังคมในรั้วมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒค่ะ

 

“เราโดนคนเข้าใจผิดบ่อยมากว่าเราต้องอ่านใจคนได้ สะกดจิตได้ เราทำไม่ได้” ภูริณัฐพูดพลางหัวเราะพร้อมส่ายมือไปมาเป็นเชิงปฎิเสธ “เราไม่เคยคิดว่าการมาเรียนสาขานี้จะทำอะไรแบบนั้นได้ตั้งแต่แรกนะ แต่ก็เข้าใจแหละที่คนจะคิดแบบนั้น เพราะเอาจริง ๆ การเรียนจิตวิทยามันก็ทำให้คนเข้าใจพฤติกรรม เข้าใจสาเหตุของการการกระทำต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งการเข้าใจและอธิบายสิ่งเหล่านี้เนี้ยมันทำให้เราคาดเดาต่อไปได้ว่า คนนั้น ๆ อาจจะทำอะไรต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หรือว่าทำแบบนี้ไปเพราะอะไร ต้องเรียกว่าไม่ใช่การอ่านใจแต่เป็นการทำนาย คาดเดา ดูความน่าจะเป็นมากกว่า” เขายังอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเข้าใจผิดที่ตามกันมาอีกว่า “นอกจากคำถามเกี่ยวกับการอ่านใจแล้ว อีกหนึ่งคำถามยอดฮิตที่เราเจอบ่อยไม่แพ้กันก็เป็นเรื่องของการสะกดจิต มันก็เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์แหละเพียงแต่ว่ายังไม่ได้รับการยอมรับ 100% ขนาดนั้น แล้วคนที่เขาทำได้จริง ๆ ก็คงต้องอาศัยการเรียนรู้ รวมกับความชำนาญที่มากพอไม่ได้เหมือนในหนังที่เราเรียนปุ๊บจะสามารถไปแกว่งนาฬิกาแล้วเขาจะลืมเรื่องที่เกิดขึ้นมาเลย อะไรแบบนั้น”

นิสิตจิตวิทยาครุ่นคิดเล็กน้อยเมื่อต้องพูดถึงจิตวิทยากับจิตแพทย์ “เรื่องจิตวิทยามันจะแบ่งออกเป็นสองทางก็คือจิตวิทยากับจิตแพทย์ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือจิตแพทย์เนี่ยจะสามารถไปวินิจฉัยโรคทางจิตเภทแล้วก็สั่งจ่ายยาได้ แต่สิ่งเราเรียนมันคือการบำบัดคนที่มีปัญหา มีความทุกข์มากกว่า ออกไปในเชิงแนะแนว” ภูริณัฐยังได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า “สำหรับใครที่อยากจะเป็นจิตแพทย์ก็ต้องไปเรียนแพทย์ทั่วไปแล้วค่อยต่อเฉพาะทาง ไม่สามารถมาเรียนแบบเราแล้วไปเป็นจิตแพทย์ได้เลย”

“สำหรับของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่เราเรียน วิชาแรกที่เจอคือพวกจิตวิทยาทั่วไปจะเป็นการปูพื้นฐานที่จะอธิบาย ให้เหตุผล บอกแนวคิดต่าง ๆ ถือว่าเป็นตัวสำคัญเลยนะเพราะว่ามันจะเกี่ยวข้องกับทุกจิตวิทยาที่เราต้องเรียนต่อ ๆ ไป แล้วก็มีวิชาสถิติ แต่สถิตินี้จะไม่ได้เรียนเป็นคณิตศาสตร์จ๋าแบบที่เราเรียนตอนมอปลายนะแต่จะเป็นการเรียนใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เราอาจจะต้องคำนวณตอนทำงานวิจัย นอกนั้นก็จะเรียนการทำงานของสมอง สมองส่วนไหนทำหน้าที่อะไร ส่วนไหนที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกต่าง ๆเรียนเรื่องของอารมณ์และแรงจูงใจ วิชานี้เราว่าน่าสนใจตรงที่มันทำให้เรารู้ว่า คน ๆ นี้เขาทำแบบนี้เพราะเขามีแรงจูงใจแบบนี้นะ ทำแบบนี้เพราะอะไร แต่ละคนก็ต่างกันออกไป ถ้าเราสังเกตดี ๆ จริง ๆ แล้วจิตวิทยามันก็อยู่อยู่ในทุก ๆ ที่ เราทุกคนต่างก็เคยใช้อยู่แล้วเพียงแต่ว่าอาจจะไม่ได้รู้ตัวว่าเรากำลังใช้มันอยู่นะ พอได้มาเรียนจิตวิทยามันก็กลายเป็นว่า อันนี้คือแบบนี้ เราใช้สิ่งนี้อยู่ มันคือทฤษฎีนี้นะ เรียกได้ว่าการมาเรียนจิตวิทยามันทำให้เราเข้าใจและอธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น”

ภูริณัฐอธิบายอย่างตื่นเต้นเมื่อถูกขอให้พูดถึงวิชาที่เขามีความสนใจ “สำหรับเราเลยนะ วิชาที่เรารู้สึกว่าชอบ น่าสนใจเป็นพิเศษจะเป็นวิชาการให้คำปรึกษาเบื้องต้น น่าจะเรียนตอนประมาณปี 3 มันจะเป็นการเรียนที่อาจารย์ให้เราไปรับฟังเรื่องราวของเพื่อนแล้วก็ให้คำปรึกษาจริง ตามทฤษฎีที่เราเรียนมา แบ่งกลุ่มละสามคน คนนึงเป็นผู้ให้คำปรึกษา อีกคนเป็นผู้รับคำปรึกษา ส่วนอีกคนเป็นผู้สังเกตการณ์ที่จะคอยคอมเมนต์ว่าการให้คำปรึกษาครั้งนี้มันเป็นยังไง ดีไม่ดีไหมในความคิดเรา คือเป็นวิชาที่ได้ปฏิบัติจริงจนทำให้เรารู้ว่าในสถานการณ์นั้นควรทำยังไง ใช้ทฤษฎีไหน อีกวิชาที่ชอบก็จะเป็นจิตวิทยาอปกติ วิชานี้จะออกแนวทำให้เรารู้ว่าโรคต่าง ๆ มายังไง เตรียมตัวรับมือ ช่วยเหลือได้ยังไง ทำให้เข้าใจผู้ป่วยหรือผู้ที่มีปัญหามากขึ้น”

“ส่วนบรรยากาศในรั้วมศวที่อาจจะมีน้องบางคนกลัวการไปอยู่องครักษ์ตอนปีหนึ่ง ที่นครนายก เราบอกตรงนี้เลยว่ามันไม่ได้แย่ เป็นความทรงจำที่ดีมากกว่า ได้ใช้ชีวิตกับเพื่อนตลอดเวลา ได้พบปะคนใหม่ ๆ มันมีข้อดีตรงที่เราจะสนิทกับเพื่อนได้ไวมาก อาจจะมีลำบากนิดหน่อยตรงที่ค่อนข้างจะไกลห้าง ใกล้สุดก็ฟิวเจอร์รังสิต นั่งรถครึ่งชั่วโมงได้ แต่พวกสิ่งอำนวยความสะดวก เราก็รู้สึกว่าพร้อมนะ ของกิน ของใช้มีให้ซื้ออยู่ตลอด” นิสิตมศวแสดงสีหน้ามีความสุขประกอบการอธิบายเป็นเครื่องยืนยันว่าทุกอย่างที่เขาพูดมาล้วนแล้วแต่เป็นความจริงพร้อมทั้งกล่าวต่ออีกว่า “พอกลับมาอยู่ประสานมิตรเราก็รู้สึกถึงความแตกต่างนะแต่ก็ไม่ได้ดีขึ้นหรือว่าแย่ลง เป็นอารมณ์ที่เราเข้าไปอยู่มหาวิทยาลัยใจกลางเมืองก็จะมีความเจริญมากกว่าแต่ว่าช่วงเวลาที่ได้อยู่กับเพื่อนก็จะน้อยลงเพราะเลิกเรียนเสร็จก็แยกย้ายกันกลับบ้าน กลับหอ”

ภูริณัฐยิ้มร่าทันทีที่ได้ยิ้มคำถามเกี่ยวกับชีวิตในมหาลัยก่อนเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี “สภาพสังคมที่เราเจอคือดีมาก เพื่อนในเอกเดียวกันก็คอยช่วงเหลือกันตลอด เวลามีงานที่เป็นของสาขา ทุกคนก็ให้ความร่วมมือ ถ้าทำสรุปก็คอยส่งให้กัน ไม่ใช่ว่าไม่ทะเลาะหรือไม่ขัดใจกันเลยนะ มันก็มี แต่ดีที่สุดท้ายก็คุยกันได้อยู่ดี ส่วนครูอาจารย์คือน่ารักมาก ใส่ใจนิสิตมาก เหมือนเขาก็เป็นนักจิตวิทยาคนนึงทำให้เขาพยายามที่จะทำความเข้าใจนิสิตแต่ละคน ขนาดตอนที่เราหลับเขายังพยายามมองแบบทำความเข้าใจกับเราว่านิสิตคงอ่านหนังสือมาดึกแบบนี้เลย เวลามีอะไรก็ปรึกษาได้ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าอายุต่างกัน มีฐานะเป็นอาจารย์แล้วเราจะไม่กล้าพูดคุยด้วยเลย”

ก่อนจะจากกันรุ่นพี่จิตวิทยาก็ได้ทิ้งท้ายถึงน้อง ๆ ที่มีความสนใจในสาขาที่เขากำลังเรียนอยู่ “น่าเสียดายที่ตอนนี้มันเป็นสถานการณ์โควิด ทำให้ไม่ได้มีค่ายปล่อยจิตที่เป็นค่ายให้น้อง ๆ มัธยมปลายได้เข้าร่วมเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันแต่ว่าก็ต้องลองติดตามเพจจิตวิทยามศว ถ้าเปิดก็จะมีอัพเดทข่าวสารแน่นอน สำหรับใครสนใจก็ลองหาข้อมูลดูก่อน หลัก ๆ ของสาขานี้ก็จะเป็นการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ สายจิตวิทยายังไงมันก็เป็นเรื่องของชีวิตประจำวันอยู่แล้ว มันก็ช่วยทำให้เราเป็นคนทีน่ารักมากในสังคมมากขึ้น”

– ภูริณัฐ คำธิตา นิสิตคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

ข้อมูลหลักสูตร

– คณะมนุษยศาสตร์ สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

– หลักสูตรวิทยาศาสตรศาสตรบัณฑิต (ปริญญาตรี 4 ปี)

– ค่าเล่าเรียน : ประมาณ 15,000 บาทต่อเทอม

– รายละเอียดเพิ่มเติม

เว็บไซต์ : คลิก

Facebook : คลิก

Twitter : คลิก

 

ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *