ช่วง COVID-19 ชาว ม.รังสิต กักตัวไปด้วย ออนไลน์ไปด้วย ปรับตัวอย่างไร ทั้งทำงาน ทั้งสอน ทั้งประชุม ทั้งเรียน บนออนไลน์

เป็นที่รู้กันว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้น มีความน่ากลัวตรงที่ทุกคนสามารถติดเชื้อกันได้อย่างรวดเร็ว วิธีการที่เราทุกคนได้ฟังจากการณรงค์ของคุณหมอ จากรัฐบาล คำสั่งและวิธีการป้องกันต่างๆ นัน จึงสรุปลงตรงที่ว่า การกักตัว หยุดเชื้อเพื่อชาติด้วยการไม่ออกไปไหน อยู่บ้าน สเตย์โฮม เป็นวิธีการง่ายที่สุดที่เราทุกคนจะทำเพื่อช่วยคุณหมอ ช่วยชาติของเราได้ หลายหน่วยงาน หลายสถาบันจึงได้มีการกำหนดให้มีการเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์ แน่นอนว่า การเล่น Social Media เพื่อความบันเทิงนั้นทุกคนเข้าถึงได้และสามารถใช้ชีวิตอยู่กับมันได้อย่างไม่มีปัญหา แต่เมื่อเราต้องมาเรียน มาสอน ประชุม และทำงานผ่านทางโลกออนไลน์ หลายคนอาจต้องขอเวลาปรับตัวกันอยู่บ้าง หลายคนอาจไม่มีอุปกรณ์เพียงพอสำหรับการใช้งาน หรือบางคนก็อาจรู้สึกสนุกกับวิธีการเช่นนี้
มหาวิทยาลัยรังสิตเองเป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่จะต้องปรับตัวในช่วงของการแพร่ระบาดครั้งนี้ เราจะมาลองพูดคุยกับหลายๆ ท่านดูว่า ผ่านมาแล้วเป็นระยะเวลาเดือนกว่าๆ พวกเขาเริ่มชินกับการ Work from Home ผ่านระบบออนไลน์แล้วหรือยัง

ผศ.ดร. ปิยสุดา ม้าไว คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “ก่อนจะเริ่มสอนออนไลน์ ครูค่อนข้างห่วงวิชา การฟังพูดภาษาฝรั่งเศส นักศึกษาทั้งหมดสามกลุ่ม จำนวน 80 คนจากหลากหลายคณะ เราจะฝึก จะสอนกันอย่างไร จะปรับเนื้อหาวิชา การบ้าน การสอบแบบไหนที่จะเหมาะสม ผ่านมาเกือบหนึ่งเดือนสิ่งที่ครูกังวลหายไปเป็นปลิดทิ้ง นักศึกษาทุกคนตั้งใจ พร้อมเพียง ทุกคนน่ารักให้ความร่วมมือในการฝึกพูดฝึกฟังเป็นอย่างดี อย่างล่าสุดครูให้ทำ Role Play ในสถานการณ์ Restaurant หรือ Café โดยเจอกันทางหน้าจอเท่านั้น สามารถใช้เครืองมือผ่านออนไลน์ไหนก็ได้ให้ผลงานออกมาดูเสมือนเราได้เจอกันจริงๆ เมื่อได้เห็นคลิปที่พวกเขาทำ เกิดความปลาบปลื้ม คลิปสวย ที่สำคัญทุกคนมีใจให้ครู ดูรู้เลยว่าไม่ใช่งานที่ทำแค่ให้เสร็จส่งๆ ไป แต่มันเกิดจากความตั้งใจ ความท้าทายนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า ไม่ว่าพวกเราจะเรียนจะสอนกันแบบ Offline หรือ Online หากพวกเราทุกคนตั้งใจทำอะไรๆ ก็จะเป็นความสุข ความสนุกได้”

ผศ.ดร.กฤษฎา ศรีแผ้ว คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตอนนี้ก็มีปิดคลาสเรียน หลักสูตรคอมพิวเตอร์และสารสนเทศออนไลน์แล้วครับ ก่อนจะปิดคอร์สก็มีการีวิวเนื้อหาทั้งหมดใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ซึ่งการคุยเนื้อหาทางวิชาการมันก็จะดูซีเรียสนิดหน่อยครับ อาจารย์ก็ต้องปรับวิธีการด้วย โดยทำเป็นเกมส์ตอบคำถาม เนื้อหาเกี่ยวกับที่ต้องรีวิวเพื่อการสอบ เรียกได้ว่า เล่นเกมประลองความจำกันจนเหนื่อย และนักศึกษาทุกคนก็อดทนรำเรียนกันจนถึงข้อสุดท้าย ขอบคุณมากๆ ที่ตั้งใจเรียนแม้จะค่อนข้างควบคุมยากทั้งเรื่องเนื้อหาต้องเข้มข้น บรรยากาศที่ต้องไม่น่าเบื่อ สัญญาณและอุปกรณ์ต้องหยิบใช้หลายตัวเพื่อความสมูทในการสอน จริงๆ ก็เรียกว่ามีอุปสรรคเหมือนกันครับ บางคนสัญญาณอินเทอร์เน็ต บางคนเสียงอื่นๆ รบกวน แต่พวกเราในคลาสก็พยายามตั้งใจเรียน อดทนไม่นานครับทุกคน เราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันครับ

อาจารย์สุกัลยา วงศ์ชมบุญ ผู้ช่วยคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเรียนการสอนออนไลน์สำหรับครูที่กังวลมากคือ ในช่วงแรกเป็นกังวลกับเรื่องของอุปกรณ์ที่ครูเองยังไม่เชี่ยวชาญนักในเรื่องเทคโนโลยี หรือสื่อการสอน แอพพลิเคชั่นที่ครูจะต้องใช้หลายๆ อย่างประกอบกัน ครูต้องพยายามยามทำความเข้าใจ และคุ้นชินกับสื่อ หรือระบบใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังต้องลุ้นด้วยว่านักศึกษาจะเข้ามาเรียนในระบบมากน้อยเพียงใด ต้องบอกตามตรงว่าก็จะมีทั้งนักศึกษาที่ตั้งใจเต็มที่ และนักศึกษาที่ยังเรื่อยๆ การสอนด้วยความเป็นมือใหม่เกี่ยวกับการสอนออนไลน์ ครูก็จะตั้งสติให้มั่น และพยายามสื่อสารการสอนให้ดีที่สุด พยายามไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างการสอน อุปกรณ์ที่เพิ่งเรียนรู้ ระบบ หรือแอพพลิเคชั่นที่เพิ่งลองหัดเล่น หัดใช้ ก็กังวลค่ะ แต่ภาพรวมนักศึกษาก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีค่ะ มันก็จะมีเรื่องราวประทับใจอยู่เหมือนกันค่ะ คือเรื่องการตรวจงานของนักศึกษาผ่านระบบ ต้องเพ่งคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานๆ ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำหรับครู นักศึกษาส่งงานหลายรูปแบบ บางชิ้นก็พิมพ์มาเป็นไฟล์ บางชิ้นก็ส่งเป็นภาพถ่ายให้ ที่น่าประทับใจคือมีนักศึกษาอยู่คนหนึ่ง เขาก็บอกแอบได้ยินครูคุยกับเพื่อนอาจารย์ด้วยกันว่าปวดตา หนูจะขออนุญาตพริ้นต์งานแล้วส่งพัสดุมาให้อาจารย์ตรวจ… ได้ยินอย่างนั้น หายปวดตาเลยลูกเอ๊ย เจอเด็กดีๆ ครูอาวุโสคนนี้ก็มีกำลังใจสู้ต่อเต็มที่ในสถานการณ์เช่นนี้

นางสาวนัดดา กาญจนานนท์ เลขาคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สำหรับการ Work from home ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ที่ปรับตามสภาวะความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจต้องปรับตัวและสร้างวินัยให้กับตัวเองมากขึ้น เครื่องมือและข้อมูลในการทำงานควรต้องเตรียม ต้องมี ต้องสแตนบายตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอสำหรับการทำงาน โดยส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้สำคัญ การ Work from home ต้องติดต่อได้ง่าย เพื่อให้งานสามารถดำเนินไปได้ตามขั้นตอนปกติมากที่สุดค่ะ

นางนพวรรณ บุญจง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการเงินและการลงทุน วิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สำหรับหนูก็เริ่มจากการเรียนรู้วิธีการใช้งานของโปรแกรมที่ใช้เรียนออนไลน์ เตรียมอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ให้พร้อม และต้องคอยติดตามข่าวสารจากอาจารย์ผู้สอนอยู่ตลอดเวลาค่ะ การเรียนออนไลน์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีหนูคิดว่ามันเป็นการได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเรียนการสอน เราสามารถที่จะเรียนจากที่ไหนก็ได้ เนื่องจากคณะของหนูส่วนมากเป็นนักศึกษาจีน เขาก็สามารถที่จะเข้าเรียนโดยที่เขาอยู่ที่ประเทศจีนได้ค่ะ และสำหรับข้อเสียหนูคิดว่าน่าจะเป็นในเรื่องของการติดต่อสื่อสารกับอาจารย์ หรือการส่งงานที่อาจจะไม่ได้สะดวกเหมือนกับตอนที่เราไปเรียนที่มหาวิทยาลัย และก็ในเรื่องของโปรแกรมที่ใช้เรียนออนไลน์ที่มีปัญหาเข้าไม่ได้บ้าง ไม่ได้ยินเสียงอาจารย์บ้าง อาจารย์ไม่ได้ยินเสียงเราบ้างค่ะ สำหรับวิกฤตในครั้งนี้ทำให้หนูได้รู้ว่าการเรียนการสอนไม่ได้จำกัดสถานที่ว่าต้องเป็นที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้นค่ะ ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถออกไปเรียนที่มหาวิทยาลัยได้ แต่การเรียนการสอนก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นแบบเรียนออนไลน์แทนค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *