รู้จักกลยุทธ์การสอนแบบ “เรกจิโอ” เพราะเด็กไม่ใช่แก้วเปล่าแต่คือผู้กำหนดการเรียนรู้

ปัจจุบันการเรียนการสอนแบบที่ให้เด็กเป็นศูนย์การของการเรียนรู้มากกว่าเป็นผู้ที่คอยรับความรู้จากครูผู้สอนเพียงอย่างเดียว คือวิธีการเรียนการสอนที่ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในวิธีการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่ดีอีกวิธีหนึ่ง เพราะไม่ได้ให้เด็กเป็นผู้รับ และเรียนแบบท่องจำ ทำตามแบบที่ครูบอกอีกต่อไป แต่ให้เด็กกลายเป็นศูนย์กลาง ที่ครูผู้สอนต้องคำนึงถึงความต้องการแบบศักยภาพของเด็กเป็นหลัก ซึ่งวิธีการสอนเช่นนี้ก็เป็นแนวความคิดที่สอดคล้องกับ กลยุทธ์การสอนแบบเรกจิโอ ที่เชื่อว่าเด็กไม่ใช่แก้วเปล่าแต่ทุกคนมีศักยภาพในตนเองที่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ วันนี้เราจึงจะพาไปรู้จักกับกลยุทธ์การสอนดังกล่าวกันค่ะ

 

รูปแบบการสอนแบบเรกจิโอเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2488 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ภายในหมู่บ้านวิลลา เซลลา (Villa Cella) ที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเรกจิโอ เอมิเลีย ไปประมาณ 2-3 ไมล์  โดยลอริส มาลากุซซี่ (Loris Malaguzzi) นักการศึกษาผู้มีชื่อเสียง ได้รวมกลุ่มผู้ปกครอง และอาสาสมัครที่ห่วงใยในเรื่องการศึกษาของบุตรหลาน ที่ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการจัดการศึกษาให้กับเด็ก หลังจากที่ระบบการศึกษาเดิมต้องหยุดชะงักลงในระหว่างสงคราม จนนำมาสู่การก่อตั้งโรงเรียนภายในหมู่บ้านขึ้น  ทำให้เกิดจุดเริ่มต้นของแนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลีย

 

ซึ่งหัวใจหลักของเรกจิโอคือภาพลักษณ์อันทรงพลังของเด็ก เพราะครูผู้สอนที่ยึดหลักการสอบแบบ Reggio Emilia จะไม่มองเด็กๆ เสมือนภาชนะที่ว่างเปล่าที่รอการเติมเต็มจากครูผู้สอน แต่พวกเขาจะมองเด็กๆ ดั่งผู้ที่เปรี่ยมไปด้วย ศักยภาพและความสามารถที่สามารถสร้างทฤษฎีขึ้นมาเองได้ด้วยตัวของพวกเขาเอง

 

สำหรับการจัดการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลียนี้ ได้รับรองจากทางการท้องถิ่นของอิตาลีในปี พ.ศ. 2506  และได้กลายเป็นต้นแบบของการจัดการในเมืองเรกจิโอ เอมิเลีย ซึ่งภายหลังจึงกลายมาเป็นชื่อเรียกของแนวการจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้ และยังนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในระบบการศึกษาปฐมวัยของอิตาลี ก่อนจะเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในยุโรปและอเมริกา ในปี พ.ศ. 2523

 

 

 

กลยุทธ์การจัดการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลียนั้น มีหลักการสำคัญอยู่ 7 ส่วน ได้แก่

 

  1. มุมมองที่มีต่อเด็ก

การเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลียเชื่อว่า เด็กทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ได้มาตั้งแต่กำเนิด และมีวิธีในการพัฒนาการ การเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปตามวัย เชื่อเด็กทุกคนมีความปรารถนาที่จะพัฒนาตนเอง มีความอยากรู้อยากเห็น และต้องการที่จะปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้อื่น ผ่านการแสดงออกทางร่างกาย สีหน้า หรือการพูดคุยต่าง ๆ ซึ่งเป็นทักษะการสื่อสารนี้ เชื่อว่าเป็นทักษะที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก

 

  1. โรงเรียนเป็นสถานที่ ที่มีความหลากหลาย

การจัดการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลียนั้น มองโรงเรียนคือสิ่งก่อสร้างที่มีครูและเด็กจำนวนมากอยู่ร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งรูปแบบของการใช้ชีวิตในโรงเรียนของเด็กนั้นจะขยายไปสู่ครอบครัวของเด็กได้อีกด้วย

 

  1. จัดการเรียนรู้ตามความต้องการของเด็ก

การจัดการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลียนั้น ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้มากกว่าการสอน ก่อนเริ่มเรียน จะต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เด็กกำลังกระทำอยู่ ณ ขณะนั้น เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดการเรียนรู้เพื่อตอบสนองความต้องการของเด็ก จัดสิ่งแวดล้อมและให้โอกาสเด็กได้คิด ประดิษฐ์และค้นพบด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับแนวทางที่ครูวางไว้ก่อน

 

  1. เรียนรู้อย่างลุ่มลึกจากงานโครงการ

หลักการนี้เริ่มต้นจากการที่คุณครูในโรงเรียนประชุมกันเพื่อหาหัวข้อที่คาดว่าเด็กจะสนใจ สำหรับการจัดเตรียมและออกแบบกิจกรรม โดยจะมีทั้งโครงการระยะสั้นและระยะยาว แล้วให้เด็กช่วยกันดำเนินกิจกรรมตามที่วางไว้ด้วยตัวเอง โดยมีครูเป็นผู้ช่วยเหลือ แต่ทั้งนี้ครูก็ต้องดูกิจกรรมที่เด็กสนใจมาเป็นอันดับแรกด้วย

 

  1. หน้าที่ของครู

หน้าที่ของครูแบบเรกจิโอ เอมิเลีย ต้องเป็นผู้สังเกต ค้นคว้า เป็นผู้ประสานงาน เพื่อจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงเป็นผู้ให้คำปรึกษา เสนอแนะแนวทาง สนับสนุนการเรียนรู้ และนอกจากนี้ ครูยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กเกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย

 

  1. ศิลปะคือการแสดงออกของเด็ก

ในการจัดการเรียนรู้แบบเรกจิโอ เอมิเลีย จะให้ความสำคัญกับงานศิลปะที่เด็กทำ เพราะสิ่งที่แสดงออกมาในผลงานถือเป็นการสื่อสารที่เรียกว่า “ร้อยภาษา” (The Hundred Languages of Children) ซึ่งงานศิลปะนี้เป็นสิ่งที่เด็กสามารถใช้สื่อสารให้คนรอบข้างรับรู้ได้ ทำให้เข้าใจถึงกระบวนการคิด ตลอดจนจินตภาพของเด็กที่มีต่อข้อมูลความรู้ที่เด็กได้รับมา

 

  1. การบันทึกข้อมูลสาระการเรียนรู้

การจัดบันทึกข้อมูลสาระการเรียนรู้ของเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง เพราะการจดบันทึกนี้จะครอบคลุมถึงกิจกรรมทุกด้านตลอดเวลาที่เด็กอยู่ในการจัดประสบการณ์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งครูผู้สอนจะต้องมีบทบาทที่สำคัญในการบันทึกเหตุการณ์เด่น ๆ ที่สะท้อนถึงการทำงานและการเรียนรู้ของเด็ก

 

 

 

 

 

การปฏิบัติตัวของครูสำหรับกลยุทธิการเรียนการสอนแบบเรกจิโอ

ครูในการสอนแบบทฤษฎีของ Reggio Emilia นั้นจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนและประเพณีเดิมๆเพื่อเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนที่เน้นความต้องการ และเน้นที่ตัวผู้เรียนเป็นหลัก โดยครูจะเป็นคนคอยซัพพอร์ตและโอนอ่อนไปตามความต้องการเพื่อการเรียนรู้ของเด็กๆ  ทำให้ครูในกลยุทธ์การเรียนการสอนแบบเรกจิโอนี้จะเป็นผู้สังเกตการณ์ที่มีความมุ่งมั่น และผู้ให้โอกาสเด็กๆได้เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะต่างๆ ด้วยวิธีการต่างๆ ตัวอย่างเช่น:

-สอนให้เด็กตั้งคำถามและสร้างสมมุติฐานวิธีหาคำตอบเอง

-ค้นหาและสร้างความเป็นไปได้ ทั้งการปฏิญาณตนและความขัดแย้ง พวกเขาให้โอกาสเด็กๆ ได้หาวิธีการจัดการกับความขัดแย้ง มีการปรึกษาหารือและโต้วาทีกัน

-ใช้สัญลักษณ์ในการสื่อสารความคิดและตั้งข้อสันนิฐาน

-ติดต่อพูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับความคิดใหม่ๆ

-ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจ แนวคิด ไอเดีย การคิดและทฤษฏี ที่เคยเรียนมาแล้ว โดยการสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน  เป็นต้น

 

การประยุกต์ใช้กลยุทธ์การเรียนการสอนแบบเรกจิโอ

เนื่องจากกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดของเรกจิโร เอมิเลีย ส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมที่เน้นหนักสำหรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบนี้คือ เรื่องของการทำโครงการและการแสดงออกทางงานศิลปะของเด็ก โดยมีแนวคิดว่าจะไม่มีการกำหนดเนื้อหาที่แน่นอน หัวข้อการเรียนของเด็กจะเกิดขึ้นจากเด็กสนใจของเด็ก ดังนั้นแนวทางในการปฏิบัติงานของครูคือการจัดเตรียมสื่อศิลปะไว้สำหรับการเรียนรู้ตามความสนใจของนักเรียนเท่านั้น

ซึ่งการดำเนินโครงการที่เด็กต้องการเรียนรู้เป็นได้ทั้งโครงการระยะสั้นและโครงการระยะยาวอาจเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนขึ้นอยู่กับระยะความสนใจของเด็ก  โดยครูอาจยุติโครงการได้เมื่อสังเกตพบว่าเด็กหมดความสนใจหรือเด็กได้รับคำตอบที่ต้องการแล้ว ระหว่างการดำเนินโครงการเพิ่มการเรียนรู้ของเด็ก  เด็กจะถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดผ่านงานศิลปะ  เช่น  การวาดภาพ  การปั้น  หน้าที่ของครูในลำดับต่อมาคือ ครูต้องกระตุ้นให้เด็กสื่อด้วยภาษาศิลปะสร้างสรรค์ตามที่เด็กคิดหรือจินตนาการ  ผลงานของเด็กที่ทำในแต่ละช่วงระยะของการเรียน ซึ่งครูจะต้องชื่นชม และนำเสนออย่างสวยงาม  เช่น นำใบไม้ที่เด็กเก็บมาศึกษานำภาพวาดของเด็กมาประดับชั้นเรียนด้วยศิลปะที่สวยงาม  เป็นต้น

 

แต่นอกจากการใช้กลยุทธ์การเรียนการสอนเรกจิโอในการสอนด้วยศิลปะ หรือการพัฒนาเด็กปฐมวัยแล้ว กลยุทธ์ดังกล่าวยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนอื่นๆ ได้เช่นกัน เพราะการเรียนการสอนที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน  เรียนรู้จากความสนใจก่อนจะพัฒนาไปเป็นองค์ความรู้ และทักษะหรือความชำนาญในอนาคต โดยที่มีครูเป็นผู้ซัพพอร์ตและคอยผลักดันให้พวกเขาได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ ซึ่งแม้การเรียนการการสอนแบบที่มีผู้เรียนเป็นผู้กำหนดการเรียนรู้มากกว่าผู้คอยรับความรู้นี้จะต้องทำให้ครูต้องปรับเปลี่ยน และทำงานหนักกว่าเดิม แต่เชื่อว่าเราจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมและคุ้มค่ากับความเหนื่อยอย่างแน่นอนค่ะ

 

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: http://janinnovation104.blogspot.com/2016/09/reggio-emilia-loris-malaguzzi.html

: https://beyc.co.th/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B9%82/

: https://www.trueplookpanya.com/education/content/73800/-teaartedu-teaart-teaarttea-teamet-

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

: https://www.woodlandstreehouse.com/enrichment-activities/6-creative-art-activities-for-preschoolers/

: https://www.orissapost.com/preschool-teachers-at-higher-risk-of-hearing-problems/

: https://www.lilypondcountrydayschool.com/preschool-art-curriculum-beneficial-child/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *