ญี่ปุ่นเจอวิกฤติ “Futoko” ปรากฏการณ์เด็กไม่ไปโรงเรียนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์!

 

 

ปัญหาที่หลายคนคงเคยประสบกับตัวเอง รวมถึงการส่งลูกหลานไปโรงเรียนก็คือ ปัญหาการไม่อยากไปโรงเรียนของเด็กๆ ที่อาจจะมีการร้องไห้งองแงในเด็กเล็ก หรือเกิดการแสดงออกถึงความต่อต้านในเด็กวัยที่โตขึ้นกันมาบ้าง ซึ่งก็ถือเป็นปัญหาคลาสสิกที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องพบเจอกัน แต่ปัญหาสุดคลาสสิกนี้กำลังกลายเป็นวิกฤติในประเทศญี่ปุ่น เพราะปัญหานี้กลายเป็นปรากฏการณ์ fotoku คือการไม่ยอมไปโรงเรียนของเด็กๆ ที่สูงที่สุดในประวัติการณ์ของญี่ปุ่น

 

ฟูโตโกะ (futoko) ถูกนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยกันหลายความหมายตั้งแต่ การขาดเรียน หนีโรงเรียน กลัวโรงเรียน หรือไม่ยอมไปโรงเรียน โดยเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่น นิยามว่าเป็น futoko คือ เด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียนมากกว่า 30 วันด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือการเงิน

 

 

Children playing in Tamagawa Free School

 

 

โดยจากการสำรวจและมีการรายงานผลของกระทรวงศึกษาธิการล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคมพบว่า เด็กจำนวน 164,528 คน ที่ขาดเรียน 30 วันหรือมากกว่าในช่วงปี 2018 เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ที่มีจำนวน 144,031 คน ซึ่งสาเหตุที่พบมาจากปัญหาทางครอบครัว ปัญหาการใช้ชีวิตในโรงเรียน การเข้ากับเพื่อนและสังคมที่โรงเรียนไม่ได้ รวมถึงกฎระเบียบที่เข้มงวดของโรงเรียนที่ทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดอีกด้วย

 

ตัวอย่างนักเรียนฟูโตโกะ อย่างโทโมเอะ โมริฮาชิ (Tomoe Morihashi) นักเรียนวัย 12 ปี ที่มีอาการ selective mutism  คืออาการไม่ยอมพูดเมื่ออยู่ในโรงเรียน เล่าว่า  เธอรู้สึกไม่สะดวกสบายกับคนจำนวนมาก และกฎระเบียบที่เคร่งครัดของโรงเรียน จนทำให้เธอเกิดอาการดังกล่าว “ห้ามใส่กางเกงรัดรูปที่มีสีสัน ห้ามย้อมผม กำหนดสีของยางรัดผม แล้วก็ห้ามสวมยางรัดผมที่ข้อมือ”

 

Two girls in school uniform

 

 

โดยกฎระเบียบของโรงเรียนในญี่ปุ่นมีการเข้มงวดเรื่องการแต่งกายของนักเรียนเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การบังคับให้นักเรียนย้อมผมสีน้ำตาลของตัวเองให้เป็นสีดำ การที่ไม่อนุญาตให้สวมกางเกงรัดรูปหรือเสื้อคลุม แม้แต่ในช่วงอากาศหนาว และโรงเรียนบางแห่งถึงกับกำหนดสีชุดชั้นในให้นักเรียนด้วย ซึ่งที่เคร่งครัดนี้ถูกเรียกว่า “กฎดำ” คือกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในโรงเรียนถูกนำมาใช้ในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980

 

นอกจากเรื่องของกฎระเบียบที่เคร่งครัดแล้วปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของญี่ปุ่น ก็ถือเป็นประเด็นใหญ่ โดยผลการสำรวจล่าสุดของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า จำนวนผู้ที่ถูกรังแกในโรงเรียนทั่วญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 543,933 คนในปีการศึกษา 2018 ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาและเพิ่มขึ้น 129,555 จากปีการศึกษา 2017 ทั้งจำนวนการฆ่าตัวตายในโรงเรียนปี 2018 ยังมากที่สุดในรอบ 30 ปี ด้วยจำนวนถึง 332 รายด้วย

 

ซึ่งยูตะ อิโตะ นักเรียนวัย 10 ขวบ ก็เป็นหนึ่งในนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมห้องจนทำให้เกิดการไม่อยากไปโรงเรียน เขาอดทนไปเรียนในโรงเรียนด้วยกันอยู่หลายเดือนจนเล่าให้ผู้ปกครองฟังและตัดสินใจขอลาออกในที่สุด

 

 

Tamagawa Free School

 

 

ซึ่งสำหรับปัญหาดังกล่าวที่รัฐบาลญี่ปุ่นและกระทรวงศึกษาต้องพบเจอทำให้มีการเริ่มให้จัดตั้งโรงเรียนอิสระในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เพื่อรับมือกับจำนวนฟูโตโกะที่เพิ่มมากขึ้น โดยโรงเรียนประเภทนี้เป็นโรงเรียนทางเลือกที่มีหลักการเรื่องความเป็นอิสระและปัจเจกบุคคล เป็นทางเลือกที่ได้รับการยอมรับแทนการศึกษาภาคบังคับและการจัดการศึกษาที่บ้าน แต่เด็กจะไม่ได้รับวุฒิรับรองการศึกษา โดยสถิติจำนวนเด็กที่เข้าเรียนโรงเรียนทางเลือกหรือโรงเรียนอิสระแทนที่จะเข้าโรงเรียนธรรมดาทั่วไปพุ่งสูงขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปี จาก 7,424 คน ในปี 1992 เป็น 20,346 คนในปี 2017 ซึ่งยูตะและโทเมเอะก็เป็นหนึ่งในนักเรียนที่ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนทั่วไปไปศึกษาต่อที่โรงเรียนอิสระเช่นกัน

 

ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวมีจุดประสงค์ของโรงเรียนคือการพัฒนาทักษะทางสังคมของเด็ก โดยบรรยากาศภายในโรงเรียนดูเป็นกันเอง เหมือนกับครอบครัวขนาดใหญ่ นักเรียนอยู่ร่วมกันในพื้นที่ส่วนรวมเพื่อพูดคุยหรือเล่นด้วยกัน และใช้การทำกิจกรรมอย่างการผ่านการออกกำลังกาย เล่นเกม หรือเรียนหนังสือ ในการฝึกทักษะทางสังคมให้กับเด็กๆ ซึ่งสิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ที่จะไม่ตื่นตระหนกเมื่ออยู่ท่ามกลางคนจำนวนมาก เพราะปัญหาการปรับตัวเป็นอีกปัญหาที่สังคมโรงเรียนญี่ปุ่นพบเจอ

 

 

Children playing in Tamagawa Free School

 

 

และนอกจากการเปิดโรงเรียนอิสระในการเป็นทางเลือกกับปรากฏการณ์ฟูโตโกะแล้ว ยังมีการรณรงค์ “โครงการแบล็ก โกโซกุ โอ นากูโซ!” โครงการกำจัดกฎดำ ที่ได้มีการยื่นคำร้องออนไลน์ไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีคนร่วมลงชื่อมากกว่า 60,000 คน ขอให้สอบสวนกฎที่ไม่มีเหตุผลของโรงเรียน ซึ่งจังหวัดโอซากาได้สั่งให้โรงเรียนมัธยมทุกแห่งทบทวนกฎดังกล่าวและมีโรงเรียนราว 40% ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎของโรงเรียนอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

: https://thematter.co/brief/brief-1577340004/95737

: https://www.bbc.com/thai/international-50901712

 

ขอบคุณรูปภาพจาก

: https://www.bbc.com/news/world-asia-50693777

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *