“จับตาอาเซียน” ถอดบทเรียน 1 ปี ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน

ไทยส่งไม้ต่อประธานอาเซียนเวียดนาม หลังรับหน้าที่ 1 ปี นักวิชาการมั่นใจเวียดนามทำได้ดี สานต่อแนวคิดเอสดีจีการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมไปด้วยกันไปได้ไกล ไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง

ชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (Asean Watch) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีสัมมนาสาธารณะ TSRI – Asean Public Forum หัวข้อ “ไทยกับการเป็นประธานอาเซียน : ไทยและอาเซียนได้อะไร ? จะไปอย่างไรต่อ ?” ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา

ดร.กิตติ ประเสริฐสุข  ผู้ประสานงาน ชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (Asean Watch) สกสว. รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดงานวันนี้มีขึ้นเพื่อวิเคราะห์ หารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ในปี 2562 ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยมีบทบาทหน้าที่อย่างไรในฐานะประธานอาเซียนและจะส่งไม้ต่อการเป็นประธานอาเซียนไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามโดยทิศทางอย่างไร ตลอดจนร่วมกันค้นหาคำตอบ ไทยและอาเซียนจะเดินหน้าอย่างไรต่อหลังจากนี้?” เพื่อให้ประชาคมอาเซียนมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

ดร.วิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งประชาคมอาเซียน เราจำเป็นต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจถึงพลวัตที่เกิดขึ้นในประชาคมดังกล่าว ตลอดระยะเวลา 52 ปีที่ผ่านมา อาเซียนมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากการรวมตัว 5 ประเทศ สู่ปัจจุบันที่มีภาคเครือข่าย 10 ประเทศ ที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าเป็นการอยู่ร่วมกันอย่างหลวมๆ แต่จีดีพี (GDP) รวมของประเทศเติบโตไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม คือเพิ่มขึ้น 33 เท่า นับจากปีแรกที่มีการรวมตัวกัน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.8 ล้านล้านบาท ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นประชาคมที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก จำนวน 655 ล้านคน

ในปี 2562 ที่ผ่านมาไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้เน้นจุดยืนการสร้างประชาคมอาเซียนที่จะเดินหน้าไปพร้อมกัน “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติในแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม คือผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศต่างรับรองเอกสาร “มุมมองอาเซียนต่ออินโด – แปซิฟิก” หรือ Asean Outlook on the  Indo – Pacific ที่มีขึ้นเพื่อ
1. ส่งเสริมความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
2. สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค
3. ส่งเสริมกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนและส่งเสริมกลไกที่มีอาเซียนเป็นผู้นำ
4. ความร่วมมือทางทะเล ความเชื่อมโยง และความร่วมมือเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนและประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจต่างๆ
ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งไทยพร้อมให้การหนุนเสริมการทำงานอย่างเต็มที่

ด้านนายกวี จงกิจถาวร นักวิจัยอาวุโส สถาบันความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งของเวทีสัมมนาว่า อาเซียนคือดีเอ็นเอของประเทศไทย เป็นเรื่องที่เราก่อร่างสร้างมานาน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจะรับบทบาทหน้าที่ประธานอาเซียนได้อย่างดี โดยเป้าหมายของเขาคือการรวมตัวของอาเซียนที่เข้มแข็งที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการต่อรองกับจีนได้ แม้จะมีความเป็นไปได้ยากเพราะภูมิภาคนี้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ การเมือง การปกครองและวัฒนธรรม ขณะนี้เวียดนามตอบรับกับไทยอย่างดีเรื่องจุดยืน การสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ เอสดีจี ตามที่ไทยเดินหน้าเรื่องนี้ใน 1 ปีที่ผ่านมา โดยโจทย์สำคัญหนึ่งของเวียดนามหลังจากนี้คือการสร้างความรับรู้ให้ประชาคมโลกมองเห็นความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวของประชาคมอาเซียน

ในขณะที่ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข กล่าวเสริมว่า ความสำเร็จอีกอย่าง หลังจากไทยทำหน้าที่ประธานอาเซียนตลอด 1 ปีที่ผ่านมาคือ การตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียนด้านต่างๆ จำนวน 7 ศูนย์ ประกอบด้วย
1. ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน – ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
2. คลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียนในประเทศไทย
3. ศูนย์การแพทย์ทหารอาเซียน
4. ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม
5. ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม
6. ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน
7. ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้บทบาทที่สำคัญของไทยคือการทำหน้าที่ทางด้านการทูตและวัฒนธรรม เพื่อเชื่อมร้อยคนในประชาคมเข้าด้วยกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *