ทปอ.เผยTCAS ปี 62 เหลือเก้าอี้ว่าง 2 แสนที่นั่ง

ทปอ.เผยภาพรวมการดำเนินการ TCAS ปีการศึกษา 62 ทั้ง 5 รอบเรียบร้อยเหลือที่นั่งกว่า 2 แสนที่นั่ง สะท้อนมหาวิทยาลัยต้องปรับตัว จ่อแถลงทางการกลางเดือนก.ค.นี้ พร้อมเล็งเชิญ รมว.อว.ร่วมถกวาระพิเศษวางแผนพัฒนาเขียนโครงการของบฯสร้างงานวิจัยให้ตรงจุด


วันนี้ (23 มิ.ย.) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่า ทปอ.ได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการภายหลังการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ทั้งเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องเป็นหน่วยวิจัยและทำหน้าที่วิจัย ที่ปรชุมก็ได้แจ้งให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งจะต้องกระตือรือร้นในการทำวิจัย และเรื่องรูปแบบงบประมาณใหม่ ที่มหาวิทยาลัยต้องมีการปรับตัว และก็ได้มีการปรับตัวล่วงหน้ารองรับไว้แล้ว ซึ่งได้รับการชี้แจงจากทีมวิชาการของทปอ.ว่า ประเทศไทยมีความต้องการด้านเกษตร อุตสาหกรรม ด้านใดบ้าง เพราะฉะนั้นการเขียนโครงการเพื่อของบฯวิจัยแบบบูรณาการ ข้ามสาขา ข้ามมหาวิทยาลัย ควรจะต้องทำอย่างไรบ้าง โดยงบฯต่างๆ จะต้องสะท้อนยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งงบฯด้านบุคลากร งบฯวิจัย โดยการของบฯของมหาวิทยาลัย ก็จะต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะทำงานของกระทรวง อว. เพื่อให้มหาวิทยาลัยดำเนินการให้ตอบโจทย์ยุทธาสตร์ชาติและยุคของการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล และเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ รมว.อว.คนใหม่เมื่อใด ตนก็จะเชิญ รมว.อว.มาประชุมร่วมกับ ทปอ.เป็นวาระพิเศษ

ประธาน ทปอ.กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ TCAS ปีการศึกษา 2562 รอบที่ 1-5 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง แต่มีที่นั่งเหลือจำนวนมากกว่า 2 แสนที่นั่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างแรง ทั้งเราได้เรียนรู้จากฐานข้อมูลหรือบิ๊กเดต้าที่ ทปอ.ได้รวบรวมเป็นครั้งแรก ทำให้เห็นพฤติกรรมของเด็กในยุคใหม่เป็นอย่างไร เช่น พฤติกรรมการสละสิทธิ์เป็นอย่างไร คณะหรือสาขาใดที่เด็กสนใจหรือสละสิทธิ ซึ่งรายละเอียด จะได้มีการรวบรวมและแถลงข่าวชี้แจงให้สาธารณชนเห็นภาพรวมของระบบ TCAS ประมาณ กลางเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งในเบื้องต้นจากข้อมูลพบว่า TCAS รอบ 1 แฟ้มสะสมผลงาน มีเด็กสมัครจำนวนมากที่สุด รอบ 2 โควตา มีเด็กยืนยันสิทธิเข้าเรียนมากที่สุด ส่วนรอบ5 มีเด็กสละสิทธิน้อยที่สุด เพราะเป็นรอบสุดท้ายแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหา เช่น เด็กหนึ่งคน สมัครเรียนในรอบที่ 1 และรอบที่ 2 หลายแห่ง เพราะรอบแรกไม่ได้จำกัดสาขา ทำให้เด็กสมัครได้หลายแห่ง แต่สุดท้ายเด็กก็ต้องเลือกที่เดียว แต่ก็ต้องเสียค่าสมัครจำนวนมาก รวมทั้งเป็นการกันสิทธิของคนอื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เราให้โอกาสมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้มีจำนวนไม่มาก ข้อมูลจากบิ๊กเดต้า จะทำให้เราตัดสินใจว่าในอนาคตจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

นอกจากนี้ ทปอ.จะระดมความเห็นครั้งใหญ่จากนักวิชาการของทปอ. ,มหาวิทยาลัย ทีมไอดี ทีมวิชาการ เพื่อให้ตกผลึกแนวคิดและแนวทางการลดวิชาสอบ และระบบทีแคสในอนาคต เพื่อช่วยลดภาระของเด็กๆ ลดปัญหาการกันที่นั่ง เป็นต้น โดยจะประชุมกันในเดือน ส.ค.นี้ 

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า ทปอ.ได้เชิญอุปนายกสภาวิศวกร ให้ข้อมูลกับ ทปอ.เรื่อง มาตรฐานวิชาชีพระดับสากล ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างสภาวิชาชีพกับมหาวิทยาลัยมีมาอย่างยาวนาน สุดท้ายแล้วคนที่เสียหายคือ ประเทศ บัณฑิตและภาคอุตสาหกรรม ที่ได้เด็กไม่ตรงกับความต้องการ มหาวิทยาลัยก็ระบุว่าสภาวิชาชีพก้าวก่าย ไม่เป็นอิสระ ด้านสภาวิชาชีพก็ต้องการมาตรฐานที่แท้จริง โดยอุปนายกสภาวิศวกร ได้ชี้ภาพให้เห็นถึงมาตรฐานที่ประเทศต่างๆ ดำเนินการ เช่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน มาเลเซีย ซึ่งสภาวิชาชีพกับสถาบันอุดมศึกษาร่วมมือกันเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งต่อไปจะต้องมีการรวมมือกันระหว่างสภาวิชาชีพ กับ ทปอ.ในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพต่างๆ
ที่มา mgronline.com