7 ทักษะอาชีพที่ AI ยังชนะคนไม่ได้ในวันนี้

 

เทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาและคาดว่าจะเข้ามาแย่งอาชีพเดิมที่คนทั่วไปทำอยู่ โดยเฉพาะกับงานที่เป็น ‘รูทีน’ เช่น กระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ปัจจุบันยังมีคนทำงานในด้านนี้อยู่เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ยังมีความเชื่ออีกว่า การพัฒนาของ AI ในอนาคต อาจจะเข้าไปกวาดตำแหน่งงานดีๆ เพิ่มขึ้นไป จนทำให้บางอาชีพต้องหายไปในไม่ช้า

แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีอีกหลายอาชีพที่เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเข้ามาแทนที่ได้ยาก และนี่คือ 10 อาชีพที่เชื่อว่า AI คงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะทำให้ตลาดงานเหล่านี้หายไป

1. ทักษะอาชีพของผู้บริหาร

สำหรับตำแหน่งผู้นำสูงสุดไม่ว่าจะเป็น CEO หรือผู้อำนวยการส่วนงานต่างๆ ยังไม่มีเทคโนโลยีใดสามารถมาทำหน้าที่แทนได้ เพราะตำแหน่งนี้จะต้องมีการพูดคุยสนทนา สร้างการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นบ่อยครั้ง และเทคโนโลยี AI ไม่อาจเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีเท่ากับมนุษย์ ที่สำคัญ CEO จะต้องมีสัญชาตญาณที่ดีในการดำเนินธุรกิจและเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังมีความเป็นผู้นำและการตัดสินใจที่หาไม่ได้จากเทคโนโลยีใดๆ เพียงแต่อาชีพ CEO ก็ไม่ใช่อาชีพที่ใครจะเป็นกันได้ง่ายๆ

2. ทักษะอาชีพของผู้จัดการฝ่ายผลิต

แม้อุตสาหกรรมการผลิตในปัจจุบันจะก้าวล้ำไปมาก เราเริ่มพบเห็น AI เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการผลิตเพิ่มขึ้น แต่สำหรับทักษะของหัวหน้าหรือผู้จัดการฝ่ายผลิตนั้น ยังจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้มนุษย์ในการควบคุมดูแลทุกๆ องค์ประกอบกระบวนการผลิต เพราะหากเกิดเหตุขัดข้องในกระบวนการผลิต หุ่นยนต์อาจจะไม่มีกลไกที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ดังนั้นอาชีพผู้จัดการฝ่ายผลิตจึงต้องอาศัยไหวพริบและการตัดสินใจจากมนุษย์มาควบคุมเครื่องยนต์กลไกเหล่านี้ เพื่อความราบรื่นในการผลิต

3. ทักษะอาชีพด้านการดูแลสุขภาพ

สำหรับสายงานด้านสุขภาพ เช่น การแพทย์แผนปัจจุบันและโบราณ การพยาบาล รวมถึงนักจิตวิทยา ยังเป็นอาชีพที่คงไม่มีทางหายไปในอนาคต เพราะอาชีพนี้ต้องมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ และต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการซักถามอาการ รวมถึงขั้นตอนในการรักษา ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยี AI ไม่สามารถทำได้ แต่สามารถเป็นตัวช่วยผ่านอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่ทำให้สะดวกต่อการทำงาน เช่น อุปกรณ์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ เพียงแต่ก็ยังต้องมีคนมาเป็นผู้ควบคุมอย่างใกล้ชิด เป็นต้น

4. ทักษะอาชีพด้านกฎหมายผู้พิพากษาและทนายความ

การทำงานในสายอาชีพนี้มีหัวใจหลักคือการรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม เพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์อย่างมาก เพราะทุกๆ การตัดสินใจในแต่ละครั้ง มิได้ไต่สวนจากหลักฐานหรือเหตุผลเท่านั้น แต่จะต้องอาศัยการอ่านอารมณ์ของคนอีกด้วย และแน่นอนว่าหุ่นยนต์ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ อีกทั้งผู้ต้องหาคงไม่พอใจ หากพวกเขาถูกตัดสินโทษจากหุ่นยนต์ที่ตัดสินโดยไร้ความเห็นใจและเข้าใจในเหตุการณ์แท้จริง

5. ทักษะอาชีพด้านการออกแบบกราฟิก

กลุ่มงานเหล่านี้เป็นงานที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ จำเป็นต้องใช้จินตนาการอย่างสูงในการออกแบบ ต้องผสมผสานทั้งประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน ให้เข้ากับความคิดสร้างสรรค์เฉพาะที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย รวมถึงการค้นหาแรงบันดาลใจต่างๆ เพื่อสร้างชิ้นงานที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นไป และบางครั้งก็ต้องใช้ทั้งความคิดเห็นส่วนตัว รวมถึงมุมมองของลูกค้าเข้ามาช่วยอย่างมาก และอาชีพนี้ ก็คงจะยากจริงๆ ที่จะพัฒนาให้ AI ตอบโจทย์ได้ในเร็ววัน

6. ทักษะอาชีพด้านการตลาด

ตำแหน่งนี้มีความสำคัญต่อองค์กรด้านธุรกิจในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะทำให้องค์กรนั้นๆ ประสบความสำเร็จได้ ต้องตกผลึกในแผนการจัดการ การแก้ไขปัญหาต่างๆ และชั้นเชิงในการสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อน แต่ต้องยืดหยุ่น ไม่มีคำว่าตายตัว และ AI ก็คงไม่สามารถคิดได้เช่นนั้นเหมือนมนุษย์ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ตำแหน่งจะยังคงอยู่

7. ทักษะอาชีพงานบริหารบุคคล (HR)

ฝ่ายบุคคลอาจจะดูเป็นอาชีพที่เหมือนไม่น่าจะอยู่รอดในยุค AI แต่ต้องบอกว่าเป็นทักษะอาชีพที่ยากมากๆ หากจะให้ AI มาทำงานแทนมนุษย์ในสายงานนี้ เพราะทักษะด้านงานบุคคลจะเกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์เป็นอย่างมาก ต้องเฟ้นหาบุคลากรที่เหมาะสมกับองค์กร และการจัดการเรื่องผลประโยชน์ที่พนักงานควรได้รับ รวมถึงการแก้ไขปัญหาหรือความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรได้ ที่สำคัญยังมีความรู้ความเข้าใจในด้านจิตวิทยา สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี และแน่นอนว่า AI ยังไม่สามารถทำได้เช่นกัน

สรุป

จากทักษะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หากลองสรุปดูแล้วจะพบว่า หุ่นยนต์หรือ AI ส่วนใหญ่จะถูกโปรแกรมให้ทำตามระบบ ซึ่งสามารถทำงานได้เร็ว ถูกต้อง แม่นยำก็จริง แต่ AI ไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์แบบที่คนมี

ยิ่งไปกว่านั้น อาชีพเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการใช้ประสาทสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง และความรู้สึก ซึ่งต่อให้หุ่นยนต์ AI มีข้อมูล ความรู้มากมาย แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ หรือหากทำได้ก็เพราะถูกโปรแกรมไว้ จะวิเคราะห์เป็นรายบุคคลไม่ได้ เช่น แพทย์แผนโบราณแบบจีน เป็นการใช้ประสาทสัมผัสหลายอย่างที่ AI ไม่สามารถทำงานแทนได้ หรืออาชีพที่ต้องใช้อารมณ์หรือความรู้สึกความเป็นคนเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ให้กำลังใจผู้ป่วย นักขายประกัน นักขายของต้องเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้า

ฉะนั้น หากทุกอาชีพที่ต้องใช้ความเข้าใจ รู้จักอารมณ์ของผู้อื่น และถ่ายทอดอารมณ์ได้ จะเป็นความฉลาดทางสังคมหรือเสน่ห์ของคนอีกยาวนาน และก็จะทำให้อยู่ในอาชีพที่ตนเองต้องการได้ เพราะความเด่นของ AI คือ ระบบที่ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์นั่นเอง

แม้ว่าเทคโนโลยีหรือปัญญาประดิษฐ์จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในหลายอาชีพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้จะทำงานได้ดีกว่ามนุษย์ที่มีความคิดจิตใจที่สามารถปฏิบัติงานได้โดยใช้สัญชาตญาณและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

อย่างไรก็ตาม หากเทคโนโลยีเหล่านี้กำลังจะเข้ามาทำให้อาชีพของคุณหายไป ก็ควรที่จะเรียนรู้เพิ่มทักษะความสามารถ ให้สามารถเลี้ยงชีพในสายงานอื่นๆ เพราะมัวแต่โทษความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีก็คงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น…

ที่มา Rabbit Today