บทสัมภาษณ์นักกีฬาคว้ารางวัลเหรียญทอง “ธรรมศาสตร์เกมส์” ครั้งที่ 50 ม.ราชภัฏสวนสุนันทา

บทสัมภาษณ์นักกีฬาคว้ารางวัลเหรียญทอง “ธรรมศาสตร์เกมส์” ครั้งที่ 50 ม.ราชภัฏสวนสุนันทา

ในวันที่ 21 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา Eduzones ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ฝึกสอน และนักกีฬาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่สามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง ในการแข่งขัน “ธรรมศาสตร์เกมส์” ครั้งที่ 50

อาจารย์วิษณุ สมัญญา (ผู้ฝึกสอนนักกีฬามวยสากล) กล่าวว่า “อดีตตัวผมผันตัวจากการเป็นนักกีฬามวยสากลของ ม. ศรีนครินทรวิโรฒ มาทำงานเป็นผู้ฝึกสอนที่นี่ เพื่อปั้นนักมวยให้มีทักษะและประสบการณ์ ผมมีประสบการณ์การฝึกสอนตั้งแต่เริ่มเข้ามาที่ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา รวมราว 14 ปี ผมภูมิใจกับนักกีฬาทุกคนที่ได้ฝึกสอน เพราะทุกคนมีทักษะและความสามารถ รวมถึงความอดทนสูง สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกจะเลือกจากตัวนักศึกษาหรือนักกีฬาที่มีทักษะพื้นฐานอยู่แล้ว มาทำการฝึกฝนทักษะเพิ่ม หลังจบการฝึกฝนในแต่ละครั้ง ผมจะวัดผลการฝึกซ้อมจากทักษะหรือว่าพัฒนาการของตัวนักกีฬา ว่า ในส่วนไหนที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง จากนั้นพานักกีฬาไปหาประการณ์เพิ่มเติม แล้วนำมาพัฒนาว่ามีส่วนไหนที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ทำให้เราได้เหรียญรางวัลในการแข่งขัน “ธรรมศาสตร์เกมส์” ครั้งที่ 50 นี้ ก็คือการเตรียมพร้อมในการฝึกซ้อม เพิ่มเติมทักษะพื้นฐานและทักษะเฉพาะตัวนำออกมาใช้ได้อย่างดุดันมากขึ้นก่อนการแข่งขันเวลาเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เราจะต้องคิดแก้ไขปัญหาเฉพาหน้าและวิเคราะห์เกมเพื่อตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามให้ได้ แนะนำสำหรับผู้ที่อยากจะเข้ามาทำงานในวงการผู้ฝึกสอนนักกีฬามวยสากลทุกคน ว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นโค้ช คือ ต้องสร้างแรงบันดาลใจ สร้างสปิริตให้กับนักกีฬาทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องคาดหวังในผลแพ้ชนะมาก เกินกว่ากำลังใจของนักกีฬา ฝากถึงนักกีฬาน้องๆ หรือผู้ที่มีความสนใจ รวมถึงนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ใน ม.ราชภัฏสวนสุนันทา หากต้องการเรียนมวยสามารถมาพบกับพวกเราที่นี่ได้เลย”

 

 

รางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง กีฬามวยสากลสมัครเล่นชาย (ไลท์เวท)

นายณัฐพงศ์ หนูเขียว นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะการเมืองการปกครอง กล่าวว่า “แรงบันดาลใจที่ทำให้เลือกเล่นมวยสากล เพราะว่าตอนเด็กๆ ชอบกีฬาประเภทต่อสู้ พ่อก็เลยแนะนำให้เล่นกีฬามวยไทยก่อน เริ่มเล่นมวยสากล ตั้งแต่ช่วง ม.ปลาย ปีแรก ตอนนั้นมีอาจารย์มาชักชวนให้ไปเล่นให้กับจังหวัดพิษณุโลก เพราะกำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนกีฬาพิษณุโลก ปกติซ้อมวันละ 5 ชั่วโมง ช่วงเช้าใช้เวลากับ การยืดเหยียดและทบทวนพื้นฐาน 2 ชั่วโมง และในช่วงบาย จะฝึกการวิ่งเข้าเป้าและทวบทวนพื้นฐาน 3 ชั่วโมง ส่วนตัวผมรู้สึกประทับใจกับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่ผ่านมา เพราะคู่ต่อสู้มีทักษะและแรงฮึดสู้ และเป็นมวยมาก ประทับใจที่สามารถสู้ได้สูสีและเอาชัยชนะมาได้ ก่อนการแข่งขันเป็นปกติที่จะมีแรงกดดันสูง แต่จะยึดมั่นใจกับตัวเองว่า ไม่ว่าผลจะเป็นแพ้หรือชนะ จงทำให้เต็มที่ เพื่อจะได้ไม่กลับมาเสียใจทีหลัง สำหรับประสบการณ์ที่ต้องพักฟื้นเพราะอาการบาดเจ็บ ผมเคยเจอกับอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อขาขวา อาการปวดหลัง และอาการเจ็บแขนข้างซ้าย ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลต่อการชก แต่เมื่อพบกับอาการบาดเจ็บก็จะพยายามนวดยืดเหยียด เพื่อที่จะสู้ในทุกเวทีให้ได้เต็มร้อยที่สุด ผมขอบคุณทางมหาวิทยาลัย โค้ช ทีมงาน และพี่ๆ น้องๆ ที่ได้ฝึกซ้อมให้กับตัวผมตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เป้าหมายของผมคือการพัฒนาตัวเองและก็อยากจะครองแชมป์ในการแข่งขัน ต่อไปๆ รวมถึงอยากจะชักชวนน้องๆ ที่มีความสนใจกีฬามวยสากล ที่นี่สามารถเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นโค้ช อุปกรณ์ เวที สถานที่ ที่นี่ครบครันเหมาะสำหรับการฝึกซ้อม”

 

 

รางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง กีฬาหมากกระดาน (หมากฮอส) ประเภทบุคคลชาย และ ประเภททีมชาย

นายอดุลวิทย์ สุธีกาญจโนทัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ สาขาการจัดการ E-sport กล่าวว่า “ผมเริ่มต้นเล่นหมากฮอสตั้งแต่อายุ 10 ขวบ มี พ่อ แม่กับพี่ชาย ที่ช่วยสนับสนุน ตอนนั้นผมได้แข่งขันภายในโรงเรียน และก็ได้เป็นตัวแทน เนื่องจากตอนนั้นทั้งสามคนรวมตัวผมได้คะแนนเท่ากัน ก็เลยต้องได้จับฉลากเพื่อเลือกคนไปแข่งขันรอบต่อไป ผมจำความรู้สึกที่ผมจับได้ที่สามได้อย่างชัดเจน พอกลับมาที่บ้านผมก็ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเป็นตัวแทนในการแข่งขันระดับภาคและระดับประเทศให้ได้ จนได้มายืนจุดนี้ สำหรับการจัดเวลาซ้อมผมให้ความสำคัญใหญ่ๆ กับการเรียนเป็นหลัก และด้วยความที่หมากฮอสเป็นสิ่งที่ผมมีความชื่นชอบมากๆ อยู่แล้ว ผมก็ใช้เวลาว่างในการฝึกซ้อมโดยชวนเพื่อๆ พี่ๆ ที่รู้จักมาฝึกฝน ขัดเกลาฝีมือ ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน ผมได้รับแรงบันดาลใจจากโค้ชและครอบครัว ทำให้มีแรงฮึดสู้และพลิกเกมส์ต่างๆ มาได้ ผมเคยเผชิญความพ่ายแพ้เมื่อปีที่แล้วกับนักกีฬาธรรมศาสตร์ในรอบชิงชนะเลิศ กติกาคือเสมอเท่ากับแพ้ ตอนนั้นผมได้แพ้ไป ผมรู้สึกเสียใจมากและก็นำความรู้สึกครั้งนั้นกลับมาฝึกฝนฝีมือจนครั้งนี้ผมได้คว้าชัยชนะมา ผมฝากถึงเยาวชนที่จะเข้ามา หมั่นฝึกซ้อมและการมีเพื่อนร่วมทีม มีโค้ชที่ดี รับรองว่าไปได้ไกลแน่นอน เชิญชวนให้มาเล่นหมากฮอส หลายๆ มหาวิทยาลัยมีโค้วต้าในส่วนนี้ รวมถึง ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ที่จะมีทุนฟรีให้ตั้งแต่แรกเข้า มีการสนับสนุนในส่วนต่างๆ”

 

 

รางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง กีฬาหมากกระดาน (หมากฮอส) ประเภททีมชาย

นายศรราม เสนคำสอน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ กล่าวว่า “เริ่มแรกผมได้แรงบันดาลใจ ตอนอายุ 10 ขวบ จากคุณลุงแถวบ้านและก็แพ้ไป ตอนนั้นก็อยากจะฝึกฝนเล่นหมากฮอส สำหรับการซ้อมในตอนนี้ก็จะทำการตั้งหมากและดูคลิป นำข้อมูลหรือว่าแนวคิดต่างๆ มาช่วยในการฝึกซ้อม ปัจจัยที่ช่วยให้ชนะหรือช่วยพัฒนาฝีมือ คือ การฝึกซ้อมเดินหมากให้เยอะๆ รวมถึงคิดการโต้ตอบการเดินหมากของคู่ต่อสู้ การแข่งขันที่ผมประทับใจมากที่สุด คือ การแข่งขันที่ จ. อุดรธานี ตอนนั้นได้รางวัล 1 เหรียญทองและ 1 เหรียญเงิน ที่สำคัญคือได้แข่งกับรุ่นพี่ “บาส” ที่ผมเคารพมากที่สุด สิ่งที่สำคัญในการพัฒนา คือ การวางแผนการฝึกซ้อมและมีการพักผ่อนที่ดี หลังเลิกเรียนผมจะแบ่งเวลาซ้อมให้กับตัวเอง 3-4 ชั่วโมง ทำทุกๆ วัน และทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอ ตัวผมที่บ้านไม่ได้มีฐานะอะไรแต่ได้รับทุนจากการเล่นกีฬาหมากฮอส นี่ก็เป็นหนึ่งแรงผลักดันของผมเองด้วย ฝากถึงน้องๆ ที่มีความสนใจอยากจะเข้ามาที่นี่ ว่าเรามีโค้ชที่ช่วยซัพพอร์ตในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดหรือว่าการฝึกฝน ฝึกซ้อม ตัวผมได้รับบาดเจ็บจากการทำงานตั้งแต่อายุ 14 ปี สะสมมาเรื่อยๆ จนเริ่มทรุดหนักช่วง ม.6 เป็น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทและข้อสะโพกอักเสบ ต้องได้เข้าโรงพยาบาลและได้ดรอปเรียนไป 1 ปี ผมมีความจำเป็น ไม่สามารถหยุดทำงานได้ พอกลับไปทำงานอาการบาดเจ็บก็หนักขึ้น ผมออกมาทันรอบการแข่ง “ธรรมศาสตร์เกมส์” พอดีมีแพลนจะรักษาจนกว่าจะหายดี ในระหว่างการแข่งก็มีอาการเจ็บเป็นระยะๆ อยากให้ทุกคนๆ ดูแลสุขภาพของตัวเองให้มากๆ ผมอยากขอบคุณโค้ช อาจารย์ และทีมสวนนันทุกคน ที่ช่วยในการให้ความรุและฝึกฝนตัวผม”

 

 

รางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง กีฬาหมากกระดาน (หมากฮอส) ประเภทคู่ผสม

นางสาวอมรรัตน์ เชื้อจีน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะการเมืองและการปกครอง สาขานิติศาสตร์ กล่าวว่า “เริ่มเล่นตั้งแต่อายุ 13 ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาจารย์และก็พ่อ ตอนนั้นได้มีเพื่อนชวนเข้ามาเริ่มเล่นหมากกระดาน เวลานั้นมีการคัดเลือกคนเข้าแข่งขันพอดี หนูได้รับที่ 3 จากแข่งขันที่ จ.อุดรธานี สำหรับการแบ่งเวลาฝึกซ้อม จะซ้อมช่วงหลังเลิกเรียน โดยซ้อมจากโปรแกรมการเดินหมากและคำแนะนำคำปรึกษาจากโค้ช การแข่งขันที่ภูมิใจที่สุดคือการแข่งขันรอบล่าสุดในงาน “ธรรมศาสตร์เกมส์” ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังถึงรางวัลหรือว่าผลแพ้ชนะ หวังได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการแข่งขัน เราเพียงต้องเล่นให้ได้เต็มที่ จากที่หนูไม่เคยรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับหมากฮอสเลยแต่ได้พัฒนาตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ หนูรู้สึกมีความสุขและภูมิใจในตัวเอง ภูมิใจในทีม ภูมิใจกับคนรอบข้าง ขอบคุณโค้ช ครอบครัวฝากถึงทุกคนที่มีความสนใจ เชื่อว่าขอเพียงทุกคนตั้งใจ ขยันฝึกซ้อม และมีความตั้งใจ ทุกคนสามารถทำได้แน่นอน

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *