ปลัด ศธ.ชี้เด็กต่ำกว่า 14 ปีไม่เหมาะเรียนทางไกลภาพรวมขาด “เนื้อหา” มากกว่า “เครื่องมือ”

“ปลัด ศธ.” ชี้การเรียนทางไกล ไม่เหมาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี  มองภาพรวมการศึกษาไทย ยังไม่มีความพร้อมจัดการศึกษาทางไกล ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเครื่องมือเท่านั้น แต่เป็นคอนเทนต์ ขณะเดียวกัน พบเด็กกว่าร้อยละ 70 ไม่มีทรัพยากรเพียงพอเรียนทางไกล

 

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) นายสุภัทร จำปาทอง กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการเสวนา “การเรียนยุคโควิด พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส” ที่ศูนย์พัฒนานิสิตและบัณฑิตอุดมคติ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้จัดขึ้นนั้น ตนได้พูดถึงสถานภาพปัจจุบันของการศึกษาไทย และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ว่า ปัจจุบันเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปขณะนี้ฉีดวัคซีนเข็ม 1 แล้ว ร้อยละ 91.22 ฉีดเข็ม 2 แล้วร้อยละ 36.77 และมีครูที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน 36,000 คน อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไม่ใช่คำตอบแต่เป็นการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

แต่สิ่งที่สำคัญ คือ จากข่าวที่เกิดขึ้น พบว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองไม่มีการป้องกัน จึงทำให้เกิดปัญหาการติดเชื้อขึ้น เช่น เด็กบางคนได้รับวัคซีนแล้ว แต่ยังติดโควิด เพราะผู้ปกครอง และคนที่บ้านไม่มีใครรับวัคซีน เป็นต้น และจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. กว่า 30,000 แห่ง มีโรงเรียน กว่า 5,000 แห่ง ที่จัดการเรียนการสอนแบบปกติ เนื่องจาก ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด เช่น โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนในพื้นที่ไม่มีการแพร่ระบาด ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นปัญหาอย่างมาก

เนื่องจากผู้ปกครองไม่ตระหนักถึงปัญหาโควิด และไม่ยินยอมให้เด็กรับวัคซีน ตนจึงเร่งให้ ศธจ.สร้างความเข้าใจ โดยขณะนี้บางจังหวัดยังไม่ถึงร้อยละ 50 อีกทั้งขณะนี้ประชาชนจะไปรับฟังข่าวต่างๆ ว่า เด็กไม่มีอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ แต่การจัดการศึกษาในช่วงโควิดที่ผ่าน มีเด็ก กว่าร้อยละ 70 ไม่มีทรัพยากรเพียงพอกับการเรียนการสอน

นายสุภัทร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การไปโรงเรียนไม่ใช่เพียงการเรียนรู้ แต่เป็นการพัฒนาความสามารถการเข้าสังคม การใช้ชีวิตอยู่กับบุคคลผู้อื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้หายไปเนื่องจากโรงเรียนปิด ดังนั้นตนต้องการที่จะเสนอให้การวัดความก้าวหน้าทางความรู้และจิตใจ ควรที่จะมีการยืดหยุ่นระหว่างช่วงชั้น ผู้อำนวยการและครูประจำชั้นจะต้องจับทางให้ได้ รวมถึงผู้ปกครองก็ต้องเป็นตัวช่วยสำคัญในการพัฒนาเด็กไทย

“ใน 4-5 ปีที่ผ่านมา มีคนมาพูดให้ผมฟังว่า การศึกษาโลกไปไกลแล้ว เขาไม่จำเป็นต้องไปเรียนที่โรงเรียนแล้ว ทุกอย่างอยู่ในอากาศใครๆ ก็สามารถหาได้ แต่ความเป็นจริงประเทศไทยจัดการเรียนการสอนแบบห้องเรียน อีกทั้งการจัดการศึกษาทางไกล มี 3 รูปแบบหลัก คือ 1.Online 2.On hand และ 3.On air แต่ประเทศไทยพิเศษ ตรงที่ On hand ของเรามีครูไปถึงบ้านด้วย อย่างไรก็ตาม การเรียน Online จำเป็นต้องมีครูประกบ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ปกครองเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ ซึ่งผมมองว่าเราไม่มีความพร้อมสำหรับการจัดการศึกษาทางไกล เพราะการจัดการศึกษาทางไกลไม่ใช่เรื่องของเครื่องมือ แต่เป็นคอนเทนต์ เครื่องมือ และระบบการจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะต้องมีการทำระบบการเรียนการสอน การสื่อสาร ตังอย่างบทเรียนใหม่ทั้งหมด และการเรียนทางไกลไม่เหมาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี” ปลัด ศธ.กล่าว

ด้านนางสาวจงกล เดชปั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนนครสวรรค์ กล่าวว่า ที่โรงเรียนมีการนำผลกระทบที่นักเรียนได้รับจากการเรียนมาศึกษา และยังมีอุปกรณ์ให้นักเรียนกลุ่มที่ไม่ทีความพร้อมสามารถยืมเรียนได้ ส่วนปัญหาเรื่องการเรียนเป็นเวลานานนั้น ทางโรงเรียนมีการลดคาบเรียนและจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ส่วนปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้รายได้ของผู้ปกครองลดลง ทางโรงเรียนได้มีการจัดสรรทุนให้ และยกเว้นเงินบำรุงการศึกษากับนักเรียนที่ทีความสามารถพิเศษ รูปแบบการสอน คือ Online และ On demand

ทั้งนี้ในส่วนของการนิเทศก์ติดตามการสอนเรามีแนวปฏิบัติการบันทึกการสอนให้นักเรียนสามารถดูย้อนหลังได้ และการช่วยเหลือครู เรามีการสนับสนุนอุปกรณ์ ใช้เทคโนโลยีลดงานครู รวมถึงมีการสำรวจความคิดเห็นครู นักเรียน ผู้ปกครอง เกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ เช่น การเปิดภาคเรียน เป็นต้น

ด้านนางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำมีจากหลายปัจจัย แต่สิ่งที่ส่งผลมากที่สุด คือ ความยากจน และช่วงโควิด-19 ส่งผลให้มีนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18 และจากผลวิจัยพบว่าโรงเรียนไม่ใช่เพียงแค่แหล่งเรียนรู้ แต่เป็นแหล่งอาหารเช้าและกลางวันด้วย

อีกทั้งการปิดโรงเรียนทำให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย โดยจากการศึกษาในกลุ่มเด็กปฐมวัย พบว่า ความรู้ด้านภาษา คณิตศาสตร์ สติปัญญาลดลง สำหรับทางออกและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาประสบการณ์ของไทยและต่างประเทศ คือ โมเดลการดูแลเด็กในสถานการณ์วิกฤติ ที่ร่วมกับระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม ที่จะดูแลครบทุกมิติ ด้านกาย ใจ สังคม และการศึกษา อีกทั้งการเรียนรู้จะต้องมีทุกรูปแบบ

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

– https://www.thaipost.net/education-news/30921/?fbclid=IwAR3Iljndf5yfaWaVL5Y69SWo4QIO8BBlopQQDNSXcHz_x-Kk4CFq9tt0OIk

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *