สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการนับเวลาเรียน การสอนชดเชย การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรฯ และการอนุมัติการจบการศึกษา ปีการศึกษา 2564

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งหนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการนับเวลาเรียน การสอนชดเชย การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร  ปีการศึกษา 2564 และการอนุมัติการจบการศึกษาภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 (หลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2564) โดยมีรายละเอียดเนื้อหา ดังนี้

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการให้โรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดและในกํากับ ของกระทรวงศึกษาธิการเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจําปีการศึกษา 2564 เป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ ทั่วประเทศมีความรุนแรงอยู่ในหลายพื้นที่นั้น

เพื่อให้การดําเนินงานของสถานศึกษาในสังกัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางเดียวกัน สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึ่งขอซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการนับเวลาเรียน การสอนชดเชย การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร ปีการศึกษา 2564 และการอนุมัติการจบการศึกษาภาคเรียน ที่ 2 ปีการศึกษา 2563 (หลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2564) ให้สถานศึกษาดําเนินการ ดังนี้

1. การนับเวลาเรียน

ให้เริ่มนับเวลาเรียน ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ยกเว้นสถานศึกษาใดที่มีความพร้อมเปิดภาคเรียนก่อนวันที่ 14 มิถุนายน 2564 และผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อม ของระบบ Thai Stop Covid+ (TSC+) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้เริ่มนับเวลาเรียนตั้งแต่วันที่เปิดภาคเรียนในวันนั้น ๆ ทั้งนี้ สถานศึกษาต้องจัดให้มีการสอนชดเชยให้ครบ ตามโครงสร้างเวลาเรียนที่สถานศึกษากําหนด

 

 2. การสอนชดเชย

สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการได้ตามบริบทและความเหมาะสม หรืออาจจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือใช้หลายวิธีร่วมกัน ดังต่อไปนี้

2.1 การจัดการเรียนการสอนแบบ On Site

2.1.1 เพิ่มจํานวนเวลาเรียนในแต่ละวัน

2.1.2 เพิ่มการเรียนในวันหยุด

2.2 การจัดการเรียนการสอนแบบ Online/On Air/On Demand/On Hand

2.2.1 กําหนดตารางสอนให้ชัดเจน เพื่อนํามานับชั่วโมงการเรียนได้

2.2.2 เลือกมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด ที่สามารถวัดและประเมินผลได้จริง คํานึงถึงบริบทของนักเรียนที่บ้านและความพร้อมของผู้ปกครอง

2.3 การจัดการเรียนการสอนแบบ Blended

ให้การจัดการเรียนการสอนแบบผสม ระหว่าง On Site กับ Distance Learning ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น On Site กับ Online หรือ On Site กับ On Air เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องคํานึงถึงความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสําคัญ 

 

3.การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร

สถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่จําเป็นและเรียนรู้อย่างมีความหมาย ใน ๒ ลักษณะ ได้แก่

3.1 เน้นตัวชี้วัดต้องรู้

3.2 บูรณาการตัวชี้วัดควรรู้กับกิจกรรมภาคปฏิบัติหรือภาระงานของนักเรียน

โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารตัวชี้วัดต้องรู้และควรรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และส่วนที่ปรับปรุง พุทธศักราช 2560 ได้ในเว็บไซต์ของสํานักวิชาการและ มาตรฐานการศึกษา https://academic.obec.go.th

 

4.การอนุมัติการจบการศึกษาภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 (หลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2564)

กรณีสถานศึกษาแก้ไขผลการเรียนของผู้เรียนหลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 และเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 14 มิถุนายน 2564 หรือ ก่อนวันเปิดเรียนของปีการศึกษา 2564 ตามที่สถานศึกษากําหนด ให้ถือว่าเป็นการอนุมัติจบการศึกษา ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563

 

ผู้ที่สนใจดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม >>> คลิก

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

-สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *