7 สาขาอาชีพแห่งอนาคตตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ EP.1 : สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน

สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้ทีมงานเอ็ดดูโซนจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับสาขาวิชาทั้ง 7 ซึ่งเป็นสาขาอาชีพแห่งอนาคตตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. 2562 – พ.ศ. 2565 ที่ทาง ครม. มีมติให้เป็น 7 สาขาที่ต้องการพัฒนากำลังคนและเป็นสาขาอาชีพที่จำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศ ได้แก่ 1. สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน 2. สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน 3. สาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 4.สาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์  5. สาขาอาชีพอาหารและเกษตร 6. สาขาปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน และ 7. สาขาอาชีพแม่พิมพ์ ซึ่งทั้ง 7  สาขานี้ก็มีหลักสูตรแยกย่อยลงไปอีก บางสาขาเป็นสาขาที่เพิ่งเปิดใหม่ เรียกได้ว่าเป็นสาขาวิชาที่น่าสนใจและเป็นตัวเลือกหนึ่งในการตัดสินใจศึกษาต่อของน้อง ๆ ม.6 เลยค่ะ ไม่อยากพูดพร่ำทำเพลงเยอะ เราไปดูกันเลยดีกว่าค่ะว่าแต่ละสาขามีความน่าสนใจอย่างไร และมีมหาวิทยาลัยไหนบ้างที่เปิดสอน เรามาเริ่มกันที่ EP.1 สาขาอาชีพแรกกันเลย คือ สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน

สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน

โลจิสติกส์คืออะไร ?

โลจิสติกส์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการระบบขนส่ง หรือเคลื่อนย้ายสินค้าจากจุดต้นทางไปยังจุดจำหน่ายตามความต้องการของลูกค้า บริการทั้งภาคพื้นดิน ทางเรือ และทางอากาศ โดยเป้าหมายของโลจิสติกส์นั้นเพื่อให้ลดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาในการขนส่ง ลดปัญหาต่างๆ ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น โดยใช้ต้นทุนน้อยที่สุด ซึ่งการขนส่งเป็นส่วนหนึ่งของโลจิสติกส์เท่านั้น โลจิสติกส์ยังมีองค์ประกอบในส่วนอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งในด้านการวางแผนสินค้าคงคลัง การจัดเก็บ ควบคุม การบริหารธุรกิจ ศูนย์กระจายสินค้าที่ทำหน้าที่ในการกระจายสินค้าไปยังลูกค้า และยังมีงานในส่วนให้บริการด้านโลจิสติกส์ การส่งออก นำเข้า และสุดท้ายคืองานให้คำปรึกษาด้านโลจิสติกส์ รวมถึงต้องเข้าใจเกี่ยวกับการเงิน การตลาดเบื้องต้นในการทำธุรกิจอีกด้วย

โลจิสติกส์เป็นสาขาอาชีพที่ใคร ๆ หลายคนใฝ่ฝัน ซึ่งอาชีพที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป เพราะเป็นสายงานเกี่ยวกับระบบขนส่ง และเมื่อไม่นานมานี้ มีมติครม.เห็นชอบให้อาชีพโลจิสติกส์เป็นสาขาอาชีพที่อยู่ในแผนการพัฒนากำลังคน และเป็นสายอาชีพที่มีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน วันนี้ พี่ ๆ เอ็ดดูโซนก็เลยจะพาน้อง ๆ มาเจาะลึกอาชีพโลจิสต์ในด้านระบบขนส่งทางราง ซึ่งเป็นอาชีพที่เกี่ยวกับการขนส่งทางราง หรือรถไฟนั่นเอง และจะมีสาขาอะไร มหาวิทยาลัยอะไรกันบ้างนั้น ไปชมกันเลย

หลักสูตรระบบขนส่งทางราง

หลักสูตรขนส่งระบบรางเรียนอะไรบ้าง ?

น้อง ๆ คงเคยเห็นและรู้เรื่องเกี่ยวกับการขนส่งทางรถไฟกันบ้างแล้วใช่ไหมคะว่ามันมีความจำเป็นและเป็นที่นิยมกันมาก ซึ่งรูปแบบการขนส่งทางรางมีความสำคัญอย่างมากต่อการขนส่งสินค้าภายในประเทศ ด้วยความสำคัญนี้เอง จึงต้องมีหลักสูตรระบบขนส่งทางรางขึ้น โดยหลักสูตรระบบขนส่งทางรางจะศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางและขนส่ง ไม่เพียงเท่านั้นหลักสูตรนี้ยังศึกษาเกี่ยวกับทางด้านการบริหารจัดการเกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางราง งานโยธาและการวิ่งของระบบขนส่ง โดยเริ่มตั้งแต่เรียนการออกแบบ ก่อสร้าง และวางแผนเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ อีกทั้งยังมีวิศวกรรมล้อเลื่อน การเคลื่อนที่ของรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบสื่อสาร ระบบไฟฟ้า ตลอดขนการเดินรถและการซ่อมบำรุงอีกด้วย เรียกว่าได้เรียนกันอย่างครอบคลุมเลยทีเดียว

 

หลักสูตรขนส่งระบบรางจบแล้วทำอาชีพอะไร ?

– วิศวกรวางแผนเดินรถ

– วิศวกรซ่อมบำรุงระบบราง

– วิศวกรที่ปรึกษาด้านการวางแผนระบบขนส่งทางราง

– นักวิจัยระบบขนส่งทางราง

 

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรระบบขนส่งทางราง

– คณะวิศวกรรมศาสตร์ (สาขาวิศวกรรมเครื่องกล) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

– คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรวิศวกรรมระบบราง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

– คณะวิศวกรรมศาสตร์ระบบราง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

– คณะวิศวกรรมศาสตร์ (นวัตกรรมธุรกิจระบบราง) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

– คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

– วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สาขาเทคโนโลยีระบบราง

– คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมระบบราง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

– สาขาวิชาระบบขนส่งทางราง (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหิดล วิศวกรรมบัณฑิต

 

หลักสูตรเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

หลักสูตรเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเรียนอะไรบ้าง ?

สำหรับหลักสูตรเทคโนโลยีอุตสาหกรรมจะศึกษาเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ในงานอุตสาหกรรม โดยนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการงานในอุตสาหกรรม ทั้งการจัดการความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในงานอุตสาหกรรม การบริหารคุณภาพในงานอุตสาหกรรม การจัดการวัสดุคงคลัง การปฏิบัติงานในอุตสาหกรรม การขนส่งและการจัดการการกระจายสินค้า การบริการลูกค้าในงานโลจิสติกส์ สถิติเพื่อการจัดการอุตสาหกรรม การวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการจัดการอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ และการวางผังในโรงงานในงานอุตสาหกรรม หลักสูตรเทคโนโลยีอุตสาหกรรมจึงเป็นหลักสูตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของบ้านเราเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันประเทศของเรามีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตของเทคโนโลยี จึงต้องมีการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการจัดการงานอุตสาหกรรมอยู่เสมอ

 

หลักสูตรเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเรียนจบแล้วทำอาชีพอะไร ?

– เจ้าหน้าที่ตรวจสอบควบคุมคุณภาพการผลิต

– เจ้าหน้าที่ควบคุมพัสดุคลังสินค้า

– เจ้าหน้าที่ด้านการบริหารการจัดการทั่วไปในโรงงานอุตสาหกรรม

– เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน

– เจ้าหน้าที่มาตรฐานอุตสาหกรรม

– เจ้าหน้าที่บริหารจัดการควบคุมคุณภาพ

– อาชีพอิสระด้านงานอุตสาหกรรม

– นักวิชาการ

– เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ

 

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม

– คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

– วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

– คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

– คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

– คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

– ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

– คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

– วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

– คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

 

หลักสูตรวิศวกรรมการจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบราง

หลักสูตรวิศวกรรมการจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบรางเรียนอะไรบ้าง ?

          หลักสูตรวิศวกรรมการจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบราง แน่นอนค่ะหลักสูตรนี้จะเรียนคล้ายกับหลักสูตรระบบขนส่งทางราง แต่มีการบูรณาการความรู้ระหว่างระบบขนส่งทางรางกับการจัดการธุรกิจร่วมด้วย และนอกจากนี้ยังศึกษาในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลักสูตรนี้จะมีการออกแบบระบบขนส่ง การวางแผนเส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ศึกษาความรู้ระบบโลจิสติกส์ การจัดการโลจิสติกส์ พลังงานที่เกี่ยวข้องกับระบบราง ความรู้ด้านการบริการจัดการธุรกิจที่เกี่ยวข้องสถานี และเส้นทางของระบบราง และน้อง ๆ ยังจะได้ศึกษาการวางแผนและสร้างธุรกิจอิสระอีกด้วย ถือว่าเป็นสาขาที่ศึกษาหลากหลายด้านและสามารถประกอบอาชีพทางธุรกิจได้อีกด้วย

 

หลักสูตรวิศวกรรมการจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบรางจบแล้วทำอาชีพอะไร ?

– ทำงานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (BTS) (MRTA)

– กลุ่มบริษัทปลีกย่อย ห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ

– บริษัทขนส่ง และกระจายสินค้า ผู้บริการด้านโลจิสติกส์

– กลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สร้างที่อยู่อาศัย บ้าน คอนโดมิเนียม และอะพาร์ตเมนต์

– กลุ่มบริษัทผลิต และจำหน่ายรถไฟและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับรถไฟ และระบบราง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

– วิศวกรที่ปรึกษา ออกแบบ วิเคราะห์แบบ และแก้ไขปัญหาในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบราง

 

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมการจัดการธุรกิจเกี่ยวเนืองกับระบบราง

– คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมการจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบราง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

เป็นยังไงบ้างคะน้อง ๆ กับสาขาวิชาชีพโครงสร้างพื้นฐาน ได้เห็นกันแล้วใช่ไหมเอ่ย กับหลักสูตรทั้ง 3 หลักสูตรที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ขั้นพื้นฐาน สำหรับหลักสูตรนี้ก็จะเหมาะกับน้อง ๆ ที่ชอบเรื่องการจัดการ รักในการเรียนภาษาอังกฤษ สนใจเรื่องธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งทั้ง 3 หลักสูตรนี้ก็จะมีการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไป แต่ละหลักสูตรก็จะมีจุดเด่นเฉพาะตัว น้อง ๆ สามารถนำจุดเด่นทั้งหมดนี้มาพิจารณาในการเลือกวิชาชีพที่จะศึกษาต่อ และแน่นอนว่าสาขาอาชีพทั้ง 7 สาขาตามกรอบคุณวุฒิที่พี่ ๆ ได้นำมาแนะนำน้อง ๆ นั้น เป็นสาขาอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการและเมื่อเรียนจบไปมีงานรับรองแน่นอน  และสำหรับ EP ต่อไปจะเป็นสาขาวิชาชีพไหน ใช่สาขาวิชาชีพที่น้อง ๆ สนใจหรือเปล่า อย่าลืมติดตามข่าวสารกันนะคะเด็ก ๆ หากน้อง ๆ คนไหนอยากรู้ว่า 7 สาขาอาชีพแห่งอนาคตตามกรอบคุณวุฒิมีอะไรบ้างสามารถเช็กได้ที่

EP.1 สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน คลิก 

EP.2 สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน คลิก

EP.3 สาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คลิก

EP.4 สาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ คลิก

EP.5 สาขาอาชีพอาหารและเกษตร คลิก

EP.6 สาขาปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงาน คลิก

EP.7 สาขาอาชีพแม่พิมพ์ คลิก

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *