จี้ กยศ.เตรียมเพิ่มวงเงินผู้กู้รายใหม่ ห่วง นร.-นศ.หลุดจากระบบจำนวนมาก แนะรัฐบาลชูนโยบาย “ทุกคนที่อยากเรียนต้องได้เรียน”

ก่อนอื่นต้องชื่นชมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ.ที่ออก 8 มาตรการเยียวยานักศึกษาที่เป็นลูกหนี้ กยศ.ทั้งที่จบไปแล้วและกำลังศึกษาอยู่กว่า 5.7 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ ลดดอกเบี้ยปรับลดการหักเงินเดือน พักชำระหนี้ 2 ปี การผ่อนผันการชำระหนี้และการงดหรือขะลอการบังคับคดี เป็นต้นล้วนเป็นมาตรการที่จะช่วยเหลือเยียวยาลูกหนี้ ที่เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจอันเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19

แต่จากแนวโน้มของผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ต่างยอมรับว่ารุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่สำคัญอาจจะลุกลามไปถึงสิ้นปีหรือข้ามปีก็เป็นไปได้

สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถส่งลูกหลานเรียนหนังสือได้ อาจจะมีนักศึกษาจำนวนมากต้องพักการเรียนหรือหลุดออกจากระบบการศึกษาไปกลางคัน แต่เนื่องจากมาตรการ กยศ.ยังครอบคุมเฉพาะลูกหนี้ในปัจจุบันเท่านั้น

ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มีความเห็นว่า ควรมีมาตรการรองรับนักศึกษาที่อาจมาเป็นลูกหนี้รายใหม่หรืออาจจะเข้าโครงการ กยศ.เพิ่มขึ้นเพื่อส่งเสียตนเองจนจบการศึกษา กยศ.จึงควรมีมาตรการรองรับนักศึกษากลุ่มใหม่ด้วย ดังนี้

1. สำหรับลูกหนี้ในปัจจุบันทั้งในรูปแบบ กยศ.และ กรอ. ควรพิจารณาเพิ่มวงเงินเบี้ยยังชีพ ในแต่ละเดือนให้กับนักศึกษาหรือผู้กู้ยืมในปัจจุบันด้วย เพื่อให้เพียงพอแก่การยังชีพในสถานการณ์ที่นักศึกษาและครอบครัวเผชิญกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ

2. สำหรับลูกหนี้ที่กำลังเรียนอยู่และมีเงื่อนไขสะสมชั่วโมงจิตอาสาเทอมละ 18 ชั่วโมงระหว่างเรียนนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการคิดเชื้อ Covid-19 กยศ. ควรประสานความร่วมมือกับ กระทรวงไอซีที กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษาฯ พิจารณาจัดรูปแบบกิจกรรมสะสมคะแนนจิตอาสาในระบบดิจิตอล และออนไลน์แทน เช่น กิจกรรมรณรงค์ต่างๆทางโซเชี่ยล ที่สามารถสมัครร่วมทำ ร่วมเผยแพร่ กำหนดจุดเสี่ยงเฝ้าระวังต่างๆกับภาครัฐ การเป็น อาสาสมัครสอนออนไลน์ หรือการอ่านหนังสือเสียงให้คนตาบอด เป็นต้น

3. สำหรับผู้ที่จะยื่นกู้รายใหม่ ควรพิจารณาเพิ่มวงเงินเข้ากองทุน กยศ. โดยอาจสุ่มสำรวจจำนวน นศ.ที่อาจเป็นลูกหนี้รายใหม่จากแต่ละสถาบันการศึกษา ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพราะที่ผ่านมา มี นศ.จำนวนมากที่เคยขอกู้และไม่ผ่านหรือกู้ได้บางส่วน กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด จะทำให้ กยศ.สามารถคาดการณ์จำนวนเงินในเบื้องต้นได้ว่าต้องเพิ่มเข้ากองทุน กยศ.เป็นจำนวนเท่าใด

4. ควรขยายฐานให้ผู้กู้รายใหม่สามารถกู้ได้ง่ายขึ้นโดยลดหรือยกเลิกเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการกู้มากจนเกินไป จนทำให้ นศ.ไม่สามารถกู้ได้เลยหรือกู้ได้มั้งหมดทั้งหมด

5. รัฐบาลควรประกาศเพิ่มวงเงินล่วงหน้า และชูนโยบายฝ่าวิกฤติ “ทุกคนที่อยากเรียนต้องได้เรียน” โดยให้สถาบันการศึกษาช่วยประสานงานความต้องการของนักเรียนนักศึกษาแต่ละแห่งว่ามีจำนวนเท่าไร หรือเปิดลงทะเบียนเพื่อคัดกรองสำหรับคนที่วิกฤติจริงๆ

โดย: ดร.สุริยะใส กตะศิลา
คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *