ป.เอก นิเทศฯ ม.หอการค้าไทย วิจัยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหวังกระตุ้นเศรษฐกิจสู้พิษโควิด-19

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID19 ที่เริ่มตั้งแต่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2562 และรุนแรงขึ้นเมื่อเริ่มศักราชใหม่ปี 2563 กลายมาเป็นไฟลามทุ่งขยายความเสียหายไม่เฉพาะประเทศจีนที่เป็นต้นทางของกรณีการระบาดอย่างรุนแรงและขยายลุกลามไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอุตสาหรรม การห้ามเดินทางของประชากรโลกส่งผลความเสียหายอย่างรุนแรงต่อการท่องเที่ยวโลก เฉพาะในประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีสัดส่วน 18-20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และเป็นอุตสาหกรรมพระเอกที่รัฐบาลตั้งความหวังให้เป็นแม่ทัพในการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตตามเป้าหมายเพื่อทดแทนรายได้ที่ลดลงจากการชะลอตัวของพิษสงครามการค้าของมหาอำนาจโลก

มีการคาดการณ์ตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท หากสามารถยุติหรือจำกัดวงการแพร่กระจายของโลกได้ภายในมีนาคม และตัวเลขจะมากขึ้นไปเป็นแบบอัตราก้าวหน้าถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อเพราะไม่มีใครสามารถระบุจุดจบของเรื่องได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเร่งผลักดันมาตรการแก้ไขปัญหา อันดับแรก มองหาวิธีการที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้คนไทยหันมาเที่ยวในประเทศ สองคือการดีงนักท่องเที่ยวในตลาดอาเชียน และจากยุโรป ที่ยังคงมีตัวเลขไม่ลดลง เพราะมีข้อมูลว่าเมื่อไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศจีนได้ก็หันมาท่องเที่ยวในประเทศไทยแทน

หลักสูตรปริญญาเอก นิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหอการค้าไทย มีบทบาทหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงร่วมผลักดันให้นักศึกษาทำการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยประจำปีงบประมาณ 2563 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ดำเนินโครงการวิจัยที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 2 เรื่อง ให้แก่ นางสาวทิพย์พิรุณ พุมดวง ดำเนินการวิจัยเรื่อง “กลยุทธ์การเล่าเรื่องวัฒนธรรมเพอรานากันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเส้นทางอันดามันคลัสเตอร์” และ นางสาวุชาดา วัฒนรักษ์ ดำเนินการวิจัยเรื่อง “การสื่อสารอัตลักษณ์จังหวัดด้วยมาสคอตเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.จันทิมา เขียวแก้ว เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

รองศาสตราจารย์ ดร.จันทิมา เขียวแก้ว อาจารย์ที่ปรึกษาหลักสูตรปริญญาเอก นิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “ผลลัพธ์จากการวิจัยทั้งสองเรื่องจะสามารถได้กลยุทธ์การสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับพื้นที่ที่ศึกษา เรื่องแรกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชาวเพอรานากัน  (Peranakan) หรือที่รู้จักันอีกชื่อคือ บาบ๋า-ย่าหยา (Baba- Nyonya) ที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเลกับชนพื้นเมืองของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพบว่ามีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นคือในกลุ่ม 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย คือ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สตูล ตรัง และระนอง กับประเทศเพื่อนบ้านสำคัญคือ มาเลเซีย และสิงคโปร์  ส่วนการศึกษาเกี่ยวกับสื่อสารอัตลักษณ์จังหวัดผ่านมาสคอตนี่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นความพยายามในการหาเครื่องมือการสื่อสารที่มีความดึงดูดน่าสนใจและมีพลังในการสื่อสารให้ผู้ที่พบเห็นได้เข้าใจเนื้อหาได้ง่ายอย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างการจดจำได้ดี ซึ่งการใช้มาสคอตก็เป็นแนวทางหนึ่งที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพยายามสนับสนุนให้แต่ละจังหวัดนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เพราะสื่อมาสคอตถูกใช้เป็นเครื่องมือการสื่อสารที่สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่การวิจัยทั้งสองเรื่องตั้งเป้าหมายไว้ จะสามารถนำมาใช้ในการกระตุ้นการรับรู้ได้ทั้งในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพราะช่องทางที่จะใช้ในการเผยแพร่สาระดีๆ ที่มีพลังโน้มน้าวใจนักท่องเที่ยวเราจะใช้ทั้งการสื่อสารผ่านทางสื่อใหม่ และสื่ออื่นๆ ที่เหมาะสมในลักษณะการบูรณาการ”

นางสาวทิพย์พิรุณ พุมดวง ผู้วิจัย นักศึกษาหลักสูตรปริญญาเอก นิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าว่า “เป็นผู้วิจัยเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมเพอรานากัน กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่จะศึกษาเรื่องนี้ เพราะเป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่ มีเชื้อสายเพอรานากันและทำงานอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต เล็งเห็นถึงประเด็นสำคัญ 3 ประการ กล่าวคือ (1) วัฒนธรรมเพอรานากันเป็นทุนทางวัฒนธรรมของกลุ่มอันดามันคลัสเตอร์ที่ควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้เป็นทางเลือกในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อแก้ไขจุดอ่อนที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มอันดามันคลัสเตอร์คือขาดอัตลักษณ์ของอันดามันที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ตลอดจนยังไม่สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางทะเลกับวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์เข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกจากทรัพยากรทางธรรมชาติแล้วประเทศไทยยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศให้เดินทางมาท่องเที่ยวได้ และ (3) การเล่าเรื่องนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำหน้าที่สื่อสารเพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวรวมถึงเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าในคุณค่าของวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ก่อให้เกิดความยั่งยืนของการท่องเที่ยว ชุมชน และสังคม ดังนั้นหากมีการเล่าเรื่องที่ดีเชื่อว่าจะทำให้จุดอ่อนด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มอันดามันคลัสเตอร์ กลายมาเป็นจุดแข็งได้”

นางสาวสุชาดา วัฒนรักษ์ ผู้วิจัย นักศึกษาหลักสูตรปริญญาเอก นิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า  “ส่วนตัวเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความสนใจและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับมาสคอตอย่างลึกซื้งเพราะเชื่อว่ามาสคอตเป็นตัวแทนของแบรนด์ ที่ช่วยสื่อสารได้เป็นอย่างดี บ่อยครั้งที่นึกถึงมาสคอตแล้วนึกถึงแบรนด์ทันที  กล่าวถึงวัตถุประสงค์การวิจัยเรื่องมาสคอต ว่า มี 3 ประการคือ (1) ศึกษาสภาพการใช้มาสคอตในการสื่อสารอัตลักษณ์จังหวัดเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย (2) ศึกษาการรับรู้อัตลักษณ์จังหวัดผ่านมาสคอตในกลุ่มนักท่องเที่ยว และ (3) จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการสื่อสารอัตลักษณ์จังหวัดด้วยมาสคอตเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย เป็นการศึกษาในระดับประเทศ และศึกษารอบด้านทั้งด้านผู้ส่งสาร สาร ช่องทาง และผู้รับสาร ที่เป็นนักท่องเที่ยว จากข้อมูลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีจังหวัดที่ใช้มาสคอตในการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว 23 จังหวัด ซึ่งอยุ๋ในขั้นเริ่มต้นมีใช้กันมาเพียง 3 ปี หากสามารถขยายให้มีในทุกจังหวัดก็น่าจะเป็นประโยชน์ในกระตุ้นการรับรู้ในกลุ่มนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นภายหลังจากวิกฤติโควิด-19”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *