จากใจคนเป็นครู ถึงนักเรียน “อาจารย์อารีรัตน์ ตันวีระชัยสกุล”

เผยมุมมอง วิธีการสอน เด็กสมัยก่อน vs เด็กสมัยนี้

            ยุคสมัยเปลี่ยน ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงตามไป ไม่เว้นแม้กระทั่งการเรียนการสอนของนักเรียน นักศึกษา ในแง่ของเทคโนโลยีเราจะเห็นได้ชัดเลยว่า จากกระดานดำ เปลี่ยนไปเป็นไวท์บอร์ด และเปลี่ยนเป็นการสอนด้วยการใช้เครื่องฉายสไลด์ด้วยแผ่นใส จากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นการสอนด้วยการใช้พาวเวอร์พอยท์ผ่านทางคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก  ไม่เพียงในด้านเครื่องมือต่างๆ เท่านั้น แต่อาจารย์และคุณครูยุคนี้ก็ต้องปรับวิธีการ แนวทางในการสอนด้วยเช่นกัน อาจารย์อารีรัตน์ ตันวีระชัยสกุล หรือ อาจารย์เสือ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อาจารย์เริ่มสอนตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2539 มาจนถึงปัจจุบัน นี่จึงเป็นอาจารย์อีกหนึ่งท่านที่มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงนี้

อาชีพ “ครู” เป็นอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข

ในความรู้สึกแรกอาชีพครูไม่ได้อยู่ในสิ่งที่อยากเป็น แต่หากมองย้อนหลับไปตอนสมัยเรียน มันก็จะมีความรู้สึกที่เราชื่นชมครู และก็ได้สอนน้องๆ เด็กๆ บ้าง ตอนนั้นคงยังไม่รู้ตัวว่าที่สอนการบ้าน สอนหนังสือได้เรียกว่าความชอบหรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ได้ไปสมัครเป็นครูสอนระดับมัธยมศึกษา และได้ย้ายไปสอนระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเอกชนอีกแห่งด้วย จนเมื่อเจอกับอุปสรรคให้ต้องกลับไปช่วยธุรกิจที่บ้าน จึงได้หยุดสอนหนังสือไปพักใหญ่ ระหว่างที่หยุดสอนไปนั้นในใจลึกๆ ก็เรียกร้องให้เรากลับไปทำตรงนั้นอีก เพราะเรารู้สึกได้ว่าเรามีความสุขตอนที่ได้สอนหนังสือ

“ตอนแรกที่ตัดสินใจสมัครเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรังสิต จังหวะมันหลายๆ อย่างที่ลงตัว และสิ่งหนึ่งที่ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจนั่นก็คือ ที่นี่ให้อิสระในเรื่องการออกแบบการเรียนการสอน ให้อิสระในเรื่องวิชาการ อาจารย์สามารถรับผิดชอบวิชาที่สอนได้ด้วยตนเอง โดยไม่มีกรอบกำหนดว่าจะต้องสอนแบบไหนอย่างไร ทำให้ค่อนข้างมีพื้นที่และมีความสุขในการสอน ตรรกะง่ายๆ คือ หากทำแล้วมีความสุขก็แปลว่ามาถูกทาง  แม้เราจะเป็นครู อาจารย์ที่อยู่มานาน แต่ความยากหรือความอิ่มตัวมันไม่มีนะ อาจเป็นเพราะลูกศิษย์ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป ทำให้รู้สึกท้าทายตลอดเวลาว่าในแต่ละเทอมเราจะเจอนักศึกษาแบบไหน แม้ยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน  คนเปลี่ยน แต่อาจารย์คนนี้ก็ยังเป็นคนเดิม เรามีหน้าที่มอบความรู้ ให้สิ่งดีๆ กับนักศึกษา คอยเฝ้าดูพัฒนาการ และสังเกตพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปของเด็กๆ เพราะเรื่องเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้และสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอนได้ ในฐานะที่เคยเป็นครู และเป็นอาจารย์ด้วย เด็กสมัยนี้ต่างกับเด็กสมัยสัก 10 ปีก่อนค่อนข้างมากเหมือนกัน อาจเพราะสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนไป ฉะนั้นเราก็จะไม่โทษเด็ก ผู้ใหญ่ก็มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เด็กเป็นเช่นนั้น แต่จะอย่างไรก็ตามตัวเด็กเองก็ควรที่จะต้องเรียนรู้เองด้วย ไม่คล้อยไปตามสภาพแวดล้อม เมื่อก่อนเทคโนโลยียังไม่ติดตัวเรามากขนาดนี้ เมื่อไรที่เราอยากค้นคว้าต้องไปที่ห้องสมุด แต่ในทางกลับกันปัจจุบันนี้ทุกอย่างอยู่ในมือถือ ในแท็บเล็ต ซึ่งมองในแง่ดีถือว่าเป็นประโยชน์และได้เปรียบกว่าเด็กในสมัยก่อนมาก แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องมากมายที่ประโยชน์ตรงนี้ มันกลับถูกใช้ไปในทางที่ผิด กลายเป็นว่าความสะดวกรวดเร็วของเทคโนโลยีกลับทำให้เด็กไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้นาน และตัวเด็กเองก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ในฐานะครูถึงเราจะบ่นอย่างไรหน้าที่หลักของเราก็คือต้องคอยบอก และคอยสอนเขา”

 

 

รางวัลอาจารย์สอนดีเด่น 6 ปีซ้อน

เมื่อพูดถึงการสอนของอาจารย์เสือ ชื่อเสียงของอาจารย์ในหมู่นักศึกษาแต่ละรุ่นจากคณะศิลปศาสตร์นั้น อาจารย์เป็นที่รู้จักของนักศึกษาที่เรียนสาขาวิชาภาษาอังกฤษ และนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมของคณะ ต่างก็บอกว่าอาจารย์ใจดี แม้จะมีบุคลิกที่เหมือนดุก็ตาม สำหรับในแง่ของการสอน อาจารย์เล่าให้ฟังว่า

“แม้ว่าเราจะสอนในหัวข้อเดิม ประเด็นเดิม หนังสือเล่มเดิมก็ตาม แต่การเตรียมการสอนนั้นจะมองข้ามไปไม่ได้ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะไม่เพียงเนื้อหา การนำเสนอรูปแบบการสอนที่ต้องเตรียมให้พร้อมอยู่เสมอ การเข้าถึงเด็ก พูดในเรื่องที่เขาสนใจ พูดถึงประเด็นทางสังคมที่สามารถลิงค์เข้าสู่บทเรียนได้ ก็จะเป็นการสร้างความสนใจในการเรียนการสอนได้ เด็กๆ หรือผู้เรียนในแต่ละรุ่นก็จะคนละสไตล์ คนละกลุ่มกัน พื้นฐานทางด้านภาษา ทางด้านความรู้ก็จะต่างกันไปด้วย ดังนั้นก็ต้องปรับตัวกันไปทั้งผู้สอนและผู้เรียน ปกติแล้วตอนสอนตามสไตล์ของครูก็จะเดินสอน ยืนสอน เข้าไปหาเด็ก เคยลองนั่งสอนแล้วรู้สึกอึดอัด เมื่อเดินเข้าหาเด็กๆ เขาก็จะตื่นตัวในระดับหนึ่ง”

นอกจากบทบาทของผู้สอนแล้ว อีกหนึ่งบทบาทคือการเป็น “ครูที่ปรึกษา” ซึ่งหน้าที่นี้จะแตกต่างจากการเป็นครูที่ต้องเตรียมการเรียนการสอน ความแตกต่างในทุกๆ เรื่องของนักศึกษา เป็นเรื่องบอบบาง ละเอียด และค่อนข้างยากที่จะเข้าถึง นักศึกษาบางคนมีปัญหาเพียงจากเรื่องเล็กน้อย แต่บางคนมีปัญหาที่เก็บกดมานาน ซึ่งเราไม่ใช่นักจิตวิทยา ถ้าเขาไม่ยอมให้เราเข้าถึง ไม่เปิดเผยออกมา หน้าที่ของเราคือเป็นเพื่อนนั่งที่ดี หรือวางตัวเป็นคนที่รอคนที่พร้อมจะฟัง มีอยู่กรณีหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นกรณีที่ประทับใจ เป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน ปกติส่วนใหญ่เด็กจะกลัวพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่สำหรับกรณีนี้ ก็เป็นเรื่องของการสื่อสาร ท้ายที่สุดก็สามารถแก้ไขปัญหาให้กับนักศึกษาได้ มีวันหนึ่งนักศึกษาวิ่งเข้ามาหาและบอกว่า “อาจารย์ครับ ผมมีความสุขมากเลยครับ” เป็นไงแค่ได้เล่าถึงก็ยังประทับใจ

 

ชีวิตมหาวิทยาลัยสมัยนี้กับสมัยก่อนมันเทียบกันไมได้

อาจารย์เสือได้แนะนำถึงโอกาส และแนวทางการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยด้วยว่า สมัยนี้กับสมัยก่อนนั้นไม่เพียงวิธีการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป แต่ยังรวมไปถึงเรื่องการทำงานด้วย

“ปัจจุบันก็อาจจะไม่ได้วัดกันที่ผลการเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ผู้จ้างจะดูว่าคุณเคยทำอะไรมาบ้าง ประสบการณ์ การวางแผน การบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหา วุฒิภาวะ เป็นอย่างไร คนที่เรียนเด่น เล่นดี ก็มักจะโดดเด่นและน่าร่วมงานด้วย เป็นต้น ความคิดที่ว่าเรียนไปเพื่อให้ได้ใบปริญญามานั้น เป็นความคิดที่แคบอย่างหนึ่ง เราจะบอกกับนักศึกษาเสมอว่า เมื่อเข้ามาปีหนึ่ง คุณเป็น Input แต่ก่อนที่คุณจะจบออกไปนั้น คุณคือ Output ครูไม่สนใจว่าคุณจะเรียนจบจากที่ไหน มาอย่างไร แต่ครูอยากให้นักศึกษาสนใจชีวิตระหว่างทางที่ได้ใช้ในรั้วมหาวิทยาลัยให้มากๆ ระหว่างเรียนก็ต้องเรียนอย่างมีคุณภาพ ทำกิจกรรมก็ต้องเรียนรู้และใช้สิ่งที่ได้รับมาให้เกิดประโยชน์ หากคุณได้เรียนวิธีคิด วิธีแก้ปัญหาต่างๆ ระหว่างทางนี้ มันก็จะเป็นกำแพงที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับชีวิตได้อีกชั้นหนึ่ง”