เสียงปรบมือกึกก้อง นิสิตจุฬาฯ คว้ารางวัลแผนการตลาดที่ดีที่สุดระดับโลก

เสียงปรบมือกึกก้อง นิสิตจุฬาฯ คว้ารางวัลแผนการตลาดที่ดีที่สุดระดับโลก

จาก เวทีประกวดแผนการตลาดนานาชาติ สิงคโปร์

 

นิสิตภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ Chulalongkorn Business School (CBS)  คว้าชัยชนะจากการประกวดแผนการตลาดและการสร้างแบรนด์ “Global Brand Planning Competition 2019” ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาพันธ์การตลาดโลก ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์

 

นอกจากแผนการตลาดที่ตระเตรียมไปอย่างรัดกุมที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายในเวลาที่มีจำกัดเพียงเดือนเดียวเท่านั้น กับ  4 สมองจากรั้วพระเกี้ยว ตัวแทนทีมชนะเลิศประเทศไทย รอยยิ้มและความสดใสแบบไทยๆ เมื่อผสานเข้ากับบิ๊กเพอร์ฟอร์แมนซ์ของทีม One Two Tea จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สุดชนะใจกรรมการและผู้เข้าร่วมการประกวดทั้งงาน คว้ารางวัล Best Global Brand Plan หรือ แผนการตลาดที่ดีที่สุดมาครองสมใจ

สำหรับทีม “One Two Tea” คือส่วนหนึ่งของทีมที่สร้างชื่อจากการชนะเลิศบนเวทีการแข่งขัน J-MAT ของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยปีนี้ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมาครองแชมป์การแข่งขันแผนการตลาดต่อเนื่องกันมากว่า 10 ปี ประกอบด้วย พุทธสุดา วานิชดี หรือ “ไข่มุก”  นภสร ตั้งเศรษฐพานิช “หมอก” ฉลองรัฐ รัตนคงสุข “ปาล์ม” และศศิภัทร บุญมี “บีม”

 

พุทธสุดา ในฐานะหัวหน้าทีม อธิบายว่า จริงๆ ทีม One Two Tea มีด้วยกัน 10 คน รวมทีมขึ้นเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน J-MAT ซึ่งเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดในระดับประเทศและถือเป็นโปรเจ็กจบการศึกษาที่นิสิตปีสุดท้ายภาคการตลาดทุกคนจะต้องเข้าร่วมการแข่งขัน ปีนี้มีจำนวนทีมเข้าร่วมทั้งสิ้น 323 ทีม 32 สถาบัน

 

หลังจากประกาศผลชนะเลิศ พุทธสุดา บอกว่า มีเวลาเตรียมตัวเพียง 1 เดือนเท่านั้นเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันที่สิงคโปร์ “เราต้องปรับแผนแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ เหลือแค่ชื่อทีม One Two Tea เนื่องจากตอนแข่ง J-MAT เราเสนอแผนการตลาดสำหรับตลาดในเมืองไทย แต่พอไปแข่งที่สิงคโปร์บนเงื่อนไขที่แตกต่าง ประการแรกคือ ความที่เป็น Global มีกรรมการที่แตกต่างเป็นสิบประเทศ บางคนไม่รู้จักแบรนด์ของเราเลย ก็ต้องทำให้รู้จักก่อน แม้แต่บิ๊กไอเดีย “Infinite You ปลดปล่อยตน จะสายไหนก็ไปให้สุด” คำว่า Infinite อาจจะเข้าใจว่าวกไปวนมาไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นจึงเปลี่ยนเป็น Unexpected Experience สื่อถึงประสบการณ์ที่ผู้บริโภคจะได้รับอย่างคาดไม่ถึง”

 

 

ขณะที่ ศศิภัทร เสริมว่า    “ตอนที่เราเลือกแบรนด์นี้เราคิดว่าด้วยเวลาที่เรามีอยู่ และพวกเรามีกันอยู่แค่ 4 คน การเลือกแบรนด์นี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ เราจึงเลือกทำให้ดีที่สุด ซึ่งก็คิดว่ามันคุ้มค่ามากที่มาได้ถึงขนาดนี้”

 

ศศิภัทร บอกและว่า ประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งบนเวทีนานาชาติทำให้เห็นโลกที่กว้างขึ้น เห็นวิธีคิดและมุมมองท่ามกลางความต่างของวัฒนธรรม ไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรดีกว่าอะไร เราก็แค่ดึงเสน่ห์ของเราออกมาให้สุด ได้เรียนรู้ว่าในโลกของความเป็นจริงแม้จะมีการแข่งขันกับคนอื่น แต่สุดท้ายเราก็แค่แข่งกับตัวเอง                 ดึงความเป็นตัวของเราเองออกมาและทำให้ดีที่สุด เวทีนี้ทำให้เราเติบโตขึ้นมาก

 

ทางด้าน ฉลองรัฐ เสริมว่า ที่สิงคโปร์ ผมและพุทธสุดารับหน้าที่พรีเซ็นต์บนเวที ต้องเปลี่ยนบทกันตลอดเวลาจนกระทั่ง 6 ชั่วโมงสุดท้าย มันเป็นความท้าทาย ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวเองมากๆ โดยที่บทพูดก็ต้องเป็นภาษาอังกฤษด้วย เราต้องมีความเข้าใจจริงๆ จึงจะพรีเซ็นต์ออกไปได้

 

นอกจากประสบการณ์ที่ได้จากบนเวทีการแข่งขัน ฉลองรัฐบอกว่า การได้เดินทางไปประเทศสิงคโปร์ ได้ไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยนันยาง ฯลฯ ทำให้รู้สึกว่ายังมีคนที่เก่งกว่าเราอีกมากมาย เรายังต้องเติบโตยังต้องพัฒนาตนเองอีกมากเพื่อก้าวไปสู่ระดับโลก

 

เช่นเดียวกับ  นภสร บอกว่า การได้เข้าร่วมทีมครั้งนี้เป็นการเปิดโลก การได้แลกเปลี่ยนมุมมองทำให้แผนของเรากลมกล่อมมากขึ้น โดยที่มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษา เป็นกำลังใจให้เราสามารถก้าวขึ้นมาอยู่ตรงนี้ได้ ทุกคนต้องเสียสละอย่างมาก เหนืออื่นใดคือ มิตรภาพระหว่างทางที่ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน รู้จักการเปิดใจ ยอมรับในความต่าง เคารพการตัดสินใจของกันและกันบนฐานของการใช้เหตุและผล

 

การแข่งขันบนเวทีระดับนานาชาตินับเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการบ่มเพาะ และเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตจุฬาฯ ที่จะก้าวออกไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ