ธรรมศาสตร์ประกาศเชิดชู 2 กีรตยาจารย์ วิจัยนโยบายเศรษฐกิจ-การแพทย์ระดับโลก ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพชีวิต

 

“กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” นับรางวัลอันทรงคุณค่าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มอบให้ในทุกปี เพื่อเชิดชูเกียรติแห่งความเป็นครูผู้มีคุณธรรม ความรู้ความสามารถ เสียสละและยอมอุทิศตนให้แก่การสอน ควบคู่กับงานวิจัยและบริการทางวิชาการตอบแทนสังคม นับเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ทุกภาคส่วน

งาน “วันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบปีที่ 85” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ได้มีการมอบรางวัล กีรตยาจารย์เพื่อเป็นเกียรติให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ท่าน ประกอบด้วย กีรตยาจารย์ สาขาสังคมศาสตร์ ได้แก่ ศ.ดร.อารยะ ปรีเมตตา จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ .ดร.นพ.ประกิตพันธุ์ ทมทิตชงค์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เวทีปาฐกถาทางวิชาการ ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ ศาสตราจารย์ ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา กีรตยาจารย์สาขาสังคมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ “ดุลยภาพที่เหลื่อมล้ำ” สะท้อนให้เห็นทิศทางของประเทศไทยในอนาคต ที่มุ่งสู่ “ดุลยภาพที่ไม่มีเสถียรภาพ” โดยนำบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบันมาเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้กำหนดนโยบายระวัง ไม่เช่นนั้นปัญหาความเหลื่อมล้ำมีแต่ขยายวงกว้างมากขึ้น

“โลกแห่งเทคโนโลยีกำลังส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงประเทศ เกิดเป็นดุลยภาพใหม่ขึ้นมา แต่ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำก็จะตามมาเช่นเดียวกัน แล้วประเทศไทยจะไปทางไหน จะสร้างความสมดุลระหว่างความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกับความเหลื่อมล้ำนี้อย่างไร”

ศ.ดร.อารยะ มองว่า เรามีอุปสรรคในการแก้ปัญหาทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน อาทิ การปฏิวัติเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยผู้ควบคุมเทคโนโลยีมีอำนาจทางการตลาดสูงมาก ต้นทุนก็จะถูกลง จึงไม่แปลกที่สหรัฐฯประกาศสงครามการค้ากับหัวเหว่ย เพราะผู้ได้ประโยชน์จากการค้าเสรีก็คือจีน สงครามที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ควบคู่กับปัญหาราคาสินค้าเกษตรโลกตกต่ำ และการย้ายฐานการลงทุนไปยังคู่แข่งสำคัญคือเวียดนาม

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีปัญหา ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างเดิมในหลากหลายมิติ อาทิ เรื่องค่าจ้างแรงงาน ความยุติธรรม คมนาคม สาธารณสุข เพศสภาพ ถึงเวลาสังคมต้องจัดลำดับความสำคัญและหาทางออกเพื่อไม่ให้มีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

“นโยบายรัฐบาลที่ประกาศจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นเรื่องดี แต่ก็ยากที่จะบรรลุผล ความเป็นไปได้คือทิ้งไว้ให้เหลือน้อยที่สุด ทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบลดลง”

ข้อเสนอ “การปฏิรูปภาษี” ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลควรทำให้ผู้มีฐานะได้เปรียบทางสังคมหรือบริษัทเอกชน ซึ่งได้ประโยชน์จากทรัพยากรรัฐ เห็นความจำเป็นของการนำกำไรมากระจายความก้าวหน้าอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม ให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เมื่อรัฐเก็บภาษีได้แล้วนำมาอุดหนุนช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจที่ไม่แข็งแรง ไม่ใช่มุ่งจะทำให้ฝ่ายหนึ่งต้องสูญเสีย (Zero-sum Game) เสมอไป

“กรณีประเทศไทย ทุนใหญ่ได้เปรียบแค่ไหนสุดท้ายก็สู้ทุนต่างชาติที่คุมเทคโนโลยีไม่ได้ ดังนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งทุกคนจะเห็นร่วมกันว่า เราควรเสียภาษีมากขึ้นเหมือนช่วยกันดึงเส้นเชือกเพื่อให้ระบบนี้อยู่ได้”

ด้าน ศ.ดร.นพ.ประกิตพันธุ์ ทมทิตชงค์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาในหัวข้อ “การผสมผสานงานสอนเข้ากับงานวิจัยเพื่อใช้เปลี่ยนแปลงโลก” โดยให้ความสำคัญกับความรู้ที่ได้จากการทดลองวิจัย สร้างความก้าวหน้าทางการแพทย์ แม้ผลศึกษาที่ได้จะแตกต่างจากความเชื่อเดิมๆ แต่ก็ต้องอาศัยหลักการทำให้สังคมยอมรับและก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

“งานวิจัยต้องพัฒนาให้เกิด ผลกระทบในเชิงบวกและขยายวงกว้าง เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษา ที่สำคัญคือต้องทำร่วมกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องอายุอย่างเดียว อาจเป็นคนรุ่นเดียวกันแต่มีความคิดทันสมัย จะทำให้งานวิจัยเกิดความยั่งยืน”

ศ.ดร.นพ.ประกิตพันธุ์ ปัจจุบันเป็นรองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ส่วนตัวแล้ว งานวิจัยเป็นยิ่งกว่าชีวิต ผู้ร่วมงานเปรียบเสมือนครอบครัว ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาเกี่ยวกับ ปัญหาเชื้อแบคทีเรีย ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหารด้วย แต่ก็มีวิธีป้องกันดูแลและรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมวิจัยค้นพบคำตอบ “นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์ทั่วโลก”

ประสบการณ์และความสำเร็จที่ได้ สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายการวิจัย จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ เกิด “คอนเน็คชั่น” ที่ดี และส่งต่อความรู้กันทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบัน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ มีคนไข้ปีละกว่า 1 ล้านคน และมีแพทย์ผ่าตัดที่เป็นคนรุ่นใหม่อีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาการทำงานร่วมกันเป็นทีม การเก็บข้อมูลคนไข้ การวิจัยติดตามผล การทดลองใหม่ๆ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างแดน และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มุมมองที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ของ 2 กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือต้นแบบ…เป็นเบ้าหลอมให้คนรุ่นใหม่และสังคมไทยได้จุดประกายความคิดดีๆ และขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยองค์ความรู้อย่างแท้จริง