“Alga-Boo”สาหร่ายในบ่อกุ้งสู่นวัตกรรมกระดาษรักษ์โลก ผลงานอาจารย์นักวิจัยสวนสุนันทาผงาดคว้าเหรียญทองนานาชาติ

อาจารย์นักวิจัยสวนสุนันทา ผุดนวัตกรรมใหม่ Alga-Boo สาหร่ายในบ่อกุ้งสู่นวัตกรรมกระดาษรักษ์โลกเพิ่มมูลค่า – ช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย คว้าเหรียญทองงานวิจัยเวทีนานาชาติ

อาจารย์คณิน ไพรวันรัตน์ สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑสร้างสรรค์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คว้าเหรียญทองจากผลงานวิจัยนวัตกรรมใหม่ จากผลงาน Alga-Boo ในงาน European Exhibition of Creativity and Innovation : EUROINVENT 2019 ที่จัดขึ้น ณ Palace of Culture เมือง IASI – ประเทศ ROMANIA โดยได้รับรางวัลดังนี้

1. GOLD medal จาก University Poltechnica of , Romania
2. Gold Medal จาก Euroinvent 2019 Romania
3. Special Award จาก INNOPA Indonesian

อาจารย์คณิน เปิดเผยว่า “สำหรับแนวคิดในการคิดค้นสาหร่ายในบ่อกุ้งสู่นวัตกรรมกระดาษเพื่อเพิ่มมูลค่า นั้น สืบเนื่องจากสาหร่ายเป็นตัวปัญหาในบ่อกุ้ง ถ้าไม่กำจัดสาหร่ายยิ่งปล่อยทิ้งเอาไว้เป็นระยะเวลานาน ก็ยิ่งสร้างปัญหามากขึ้น ในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร และการประมง เช่น บ่อเลี้ยงกุ้ง ดังนั้นผู้วิจัยได้นำสาหร่ายสีเขียวมาแปรรูปเป็นกระดาษรักษ์โลก เพื่อทำไปใช้ในการห่อช่อดอกไม้ และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สำนักงานและสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ได้อีกด้วย ผลการทดลองพบว่า ทนต่อแรงดึงที่ 0.53 กิโลนิวตันต่อเมตร ความต้านแรงฉีกขาดที่ 1,183 มิลลินิวตัน และมีความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 65”

อาจารย์คณิน กล่าวอีกว่า “สาหร่ายในนากุ้งเป็นวัชพืชตามธรรมชาติในท้องถิ่นท้องถิ่น เช่น สาหร่ายผมนาง ไก หรือเตา โดยรวมอยู่ในกลุ่มของสาหร่ายสีเขียว ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดพบได้ทั้งในน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย มีความเป็นเส้นใยสูง มีเซลลูโลสที่ผนังเซลล์ เจริญเติบโตเร็ว วงจรชีวิตสั้น เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ทำให้สาหร่ายเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์น้ำ

“ปัญหาดังกล่าวสามารถพบได้ในหลายประเทศ อาชีพการทำนากุ้งก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากปริมาณของสาหร่ายจะมีผลต่อคุณภาพของน้ำ ในกรณีที่บ่อเลี้ยงกุ้งมีสาหร่ายมากเกินไปควรจะต้องคราดสาหร่ายขึ้นมาจากบ่อ เพราะถ้าปล่อยไว้นานเกินไปสาหร่ายจะตาย และจมลงสู่ก้นบ่ออาจทำให้เกิดปริมาณแอมโมเนียในน้ำมากเกินไป และทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียตามมา สาหร่ายที่ช้อนขึ้นมาจะเน่าเสีย และส่งกลิ่นเหม็นรบกวน จึงกลายเป็นขยะมูลฝอยปริมาณมากที่มาจากเกษตรกรรมการทำนากุ้งอีกด้วย

“จึงมีแนวความคิดที่จะนำสาหร่ายในนากุ้งมาพัฒนาเป็นกระดาษ ที่ประยุกต์ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งกระดาษยังสามารถทำสีสันได้โดยการใช้สีธรรมชาติเช่น สีเหลืองจากขมิ้น ซึ่งการเพิ่มมูลค่าให้กับกระดาษอีกทางหนึ่ง และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อทิ้งหรือไม่ได้ใช้งาน ซึ่งกระดาษสาหร่ายได้ผ่านกระบวนการทดสอบมาตรฐานโดยได้ผลดั้งนี้ ค่าน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ 242 กรัมต่อตารางเมตร ความต้านแรงดึง 0.53 กิโลนิวตันต่อเมตร ความต้านแรงฉีกขาด 1,183 มิลินิวตัน”

“ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนนันทา สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาและสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมและการประดิษฐ์ไทย ที่สนับสนุนและให้คำปรึกษาสำหรับการเข้าร่วมงานประกวด Euro Invent 2019 ทำให้ได้รับประสบการณ์ที่ดี อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องนวัตกรรมในแขนงต่างๆ กับนักวิจัยไทยและนานาชาติที่ได้เข้าร่วมในงานประกวดครั้งนี้ ความรู้ที่ได้ยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดงานวิจัยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น” อาจารย์คณิน กล่าวในที่สุด

www.ssru.ac.th

อรวรรณ สุขมา : รายงาน