นักวิจัยสวนสุนันทาสร้างนวัตกรรมใหม่ “ฐานฟื้นฟูปะการัง” อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทะเล คว้า 3 เหรียญทองงานวิจัยเวทีนานาชาติ

อาจารย์ ดร.ณิชานันทน์ เสริมศรี อาจารย์สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คว้าเหรียญทองผลงานวิจัยนวัตกรรมใหม่จากผลงานเรื่อง : Re-Grow Coral (ฐานฟื้นฟูปะการัง) ในงาน X European Exhibition of Creativity and Innovation : EUROINVENT 2019 ที่จัดขึ้น ณ Palace of Culture เมือง IASI – ประเทศ ROMANIA

โดยได้รับ 3 รางวัลเหรียญทอง ได้แก่
1. GOLD medal จาก University Poltechnica of , Romania
2. Gold Medal จาก Special Award จาก iCAN-TORONTO,Canada
3. Gold Medal จาก Euroinvent 2019 Romania (On stage)

ดร.ณิชานันทน์ กล่าวว่า “ฐานฟื้นฟูปะการัง หรือมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Re-Grow Coral เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนปะการังแบบขยายกิ่ง โดยการนำปะการังจากแปลงอนุบาล ที่เจริญเติบโตจนมีขนาดใหญ่พอสำหรับนำไปใช้ในการฟื้นฟูแนวปะการังมายึดติดเข้ากับโครงสร้างของฐานฟื้นฟูที่ออกแบบไว้เพื่อย้ายไปปลูกในท้องทะเลบริเวณที่ต้องการฟื้นฟูแนวปะการัง โดยฐานฟื้นฟูปะการัง Re-Grow Coral มีแนวคิดการออกแบบที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการให้ความสำคัญกับโครงสร้างของปะการังที่ต้องนำมายึดติดกับฐานฟื้นฟู ซึ่งโครงสร้างภายนอกของปะการังจะมีลักษณะเป็นโครงสร้างแข็งเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยโดยมีส่วนประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นหลัก ดังนั้นส่วนผสมของวัสดุที่ใช้ในการผลิตฐานฟื้นฟูปะการังนี้เกือบทั้งหมดจึงมาจากวัสดุธรรมชาติ เช่น นำเปลือกหอยเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรและการบริโภคซึ่งมีแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นจำนวนมากและสามารถเข้ากันได้ดีกับโครงสร้างของปะการังมาผสมเข้ากับใยมะพร้าว ทราย และปูนซีเมนต์อีกเล็กน้อยเพื่อช่วยในการยึดส่วนผสมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน อีกทั้งยังออกแบบให้ฐานฟื้นฟูปะการรังแต่ละชิ้นสามารถนำมาต่อเข้าด้วยกันในแนวราบเพื่อเพิ่มพื้นที่แผ่ขยายของแนวปะการังได้

จากผลการทดสอบค่าความเป็นกรดด่างของฐานฟื้นฟูปะการัง Re-Grow Coral พบว่า มีค่าความเป็นกรดด่างที่ pH 8 ซึ่งใกล้เคียงกับค่า pH ของน้ำทะเลจึงไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ในท้องทะเล อีกทั้งตัวผลิตภัณฑ์มีรูปแบบที่คล้ายกับปะการังจึงกลมกลืนและเข้ากันได้ดีกับธรรมชาติในท้องทะเล ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกในการใช้งานซึ่งนอกจากจะใช้เป็นฐานสำหรับฟื้นฟูปะการังแล้วในส่วนของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวยังสามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวของตนเองได้ โดยการสร้างเส้นทางชมแนวปะการังใหม่จากฐานฟื้นฟูปะการังเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังธรรมชาติที่มีอยู่เดิม

ลักษณะเด่นของฐานฟื้นฟูปะการัง (Re-Grow Coral) เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากวัสดุที่ใช้ในการผลิตเป็นวัสดุธรรมชาติ มีรูปทรงเลียนแบบธรรมชาติจึงเข้ากันได้ดีกับธรรมชาติในท้องทะเล มีค่าความเป็นกรดด่างที่ pH 8 ซึ่งใกล้เคียงกับค่า pH ของน้ำทะเลจึงไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ในท้องทะเล และฐานฟื้นฟูปะการังแต่ละชิ้นสามารถนำมาต่อเข้าด้วยกันในแนวราบเพื่อเพิ่มพื้นที่แผ่ขยายของแนวปะการังได้

การนำผลงานเข้าประกวดในระดับนานาชาติในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจมาก เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศและมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาแห่งนี้ และเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าสวนสุนันทาของเราไม่เป็นรองใคร เรามีนักวิจัยที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตานานาชาติได้ ขอขอบพระคุณท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาที่ร่วมเดินทางไปให้กำลังใจกับนักวิจัยทุกท่าน และขอบคุณสถาบันวิจัยและพัฒนาที่ส่งเสริม สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประกวดครั้งนี้” อาจารย์ ดร.ณิชานันทน์ กล่าวในที่สุด

อรวรรณ สุขมา : รายงาน