EZ Guide! เรียนรู้วิถีชีวิตช่วงวันวาน ณ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

ในยุคนี้ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่าคนในสมัยก่อนนั้นมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง? วันนี้ EZ Guide! จะพาทุกคนไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบางกอกในอดีต ที่ “พิพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ใจกลางย่านบางรักนั่นเอง

“พิพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” แต่เดิมเป็นบ้านของอาจารย์วราพร สุรวดี ที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากคุณแม่ คือ นางสอาง สุรวดี โดยเหตุผลที่จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นก็เพื่อที่อยากจะให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบางกอกที่มีฐานะปานกลางในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2480-2500) ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ก็จะจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในสมัยก่อนอยู่มากมาย

ท่ามกลางตึกสูงเสียดฟ้าและอาคารต่าง ๆ ในย่านบางรัก ที่นี่ยังคงความเป็นบ้านไม้ที่ถูกแต่งแต้มไปด้วยพื้นที่สีเขียวรอบบริเวณ อันก่อให้เกิดความสบายตาและสบายใจเมื่อได้มาเยือน ซึ่งถือว่าหาได้ยากแล้วในเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยความเจริญเช่นนี้ เมื่อเดินเข้ามาก็จะพบกับวิทยากรที่เป็นอาสามัครคอยนำชมและบรรยายเกร็ดความรู้เกี่ยวกับสิ่งของภายในพิพิธภัณฑ์

 

ส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกมีส่วนจัดแสดงทั้งหมด 4 อาคาร ได้แก่

1. อาคารหลังแรก

อาคารนี้มีลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยา ผนังอาคารสร้างด้วยไม้และมีลายฉลุที่ชายคาออกซึ่งครอบครัวของอาจารย์วราพรใช้อาคารนี้เป็นที่อยู่อาศัยในอดีต

  • โถงชั้นล่าง มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงเครื่องใหญ่ โต๊ะเครื่องแป้ง และตู้มุกต์ที่นำเข้ามาจากจีน

  •  ห้องรับแขก นอกจากจะเป็นห้องรับแขกแล้วยังเป็นห้องที่ใช้เล่นเปียโนของคุณแม่อาจารย์วราพร โดยของที่จัดแสดงในห้องนี้ก็จะมีเปียโนตัวโปรดของคุณแม่ และยังมีพวกเครื่องแก้วต่าง ๆ ที่มีอายุระหว่าง พ.ศ. 2440-2470

  • ห้องรับประทานอาหาร ภายในห้องจะประกอบไปด้วยโต๊ะรับประทานอาหาร ซึ่งความพิเศษของโต๊ะนี้คือสามารถปรับขนาดได้เพื่อให้มีพื้นที่พอดีกับจำนวนคนที่ร่วมโต๊ะ ตู้เย็น ภาชนะใส่อาหารต่าง ๆ และห้องนี้ยังมีโทรทัศน์ขาวดำที่คุณแม่อาจารย์วราพรเปิดไว้ให้ลูก ๆ ได้ดู

  • ห้องหนังสือ ประกอบไปด้วยตำราการแพทย์ในการรักษาโรคของคุณหมอฟรานซิส (สามีของคุณแม่อาจารย์วราพร) หนังสือเรียน และหนังสืออ่านเล่นต่าง ๆ อีกทั้งห้องนี้ยังมีห้องน้ำภายในตัว จึงมีการจัดแสดงเครื่องสุขภัณฑ์ดั้งเดิมอีกด้วย

  • ห้องนอนคุณยายอิน ตันบุนเต็ก คุณยายของอาจารย์วราพร ประกอบไปด้วยเตียงนอนไม้โบราณแบบฝรั่งมีเสามุ้ง โต๊ะเครื่องแป้ง วัตถุมงคลที่สะสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

  • ห้องแต่งตัว เป็นห้องที่นำแต่งสไตล์ยุโรป ภายในห้องมีโต๊ะเครื่องแป้งขนาดใหญ่ซึ่งเป็นศิลปะแบบเดโด มีกระจกติดทั้งสามด้าน อ่างล้างหน้า มีดโกนหนวด และยังมีรูปปั้นพลาสเตอร์รูปคุณหมอฟรานซิส ที่ปั้นโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี


  • ห้องนอนใหญ่ เป็นเป็นห้องนอนของพี่สาวอาจารย์วราพร

2. อาคารหลังที่สอง

อารคารนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับอาคารหลังแรก มี 2 ชั้น สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นคลินิกของคุณหมอฟรานซิส คริสเตียน สามีชาวอินเดียของคุณแม่อาจารย์วราพร แต่เดิมปลูกที่ทุ่งมหาเมฆซอยงามดูพลี แต่สร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จคุณหมอก็เสียชีวิตลง ต่อมาอาจารย์วราพรจึงได้รื้อบ้านที่ทุ่งมหาเมฆมาสร้างไว้ที่นี่

  • ห้องโถง โดยเป็นห้องที่เปิดโล่งใช้จัดนิทรรศการและทำกิจกรรมชั่วคราว มีห้องน้ำและห้องเก็บของอยู่ตรงข้างบันได

  • ห้องนอนของคุณหมอฟรานซิส ภายในห้องจะมีเตียงนอนไม้สี่เสา โต๊ะจัดแสดงของใช้ส่วนตัวของคุณหมอ โต๊ะทำงาน และโต๊ะเครื่องแป้ง


  • ห้องตรวจคนไข้ โดยจะจัดแสดงอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในการตรวจรักษาคนไข้ เช่น ตาชั่งน้ำหนัก กระบอกฉีดยา ปรอทวัดไข้

3. อาคารหลังที่สาม

เป็นอาคาร 2 ชั้นเช่นเดียวกับอาคารหลังแรกและหลังที่สอง แรกเริ่มนั้นเป็นห้องแถวที่ติดกัน 8 ห้อง โดยคุณแม่ของอาจารย์วราพรสร้างไว้เพื่อให้คนนอกเช่า ต่อมาเมื่อสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์จึงยกเลิกสัญญาเช่าแล้วเปลี่ยนเป็นอาคารนิทรรศการแทน

  • ชั้นล่าง เป็นชั้นที่ใช้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เอกสารส่วนตัว ดวงตราไปรษณียากร เครื่องครัว กรงเลี้ยงสัตว์ เครื่องมือช่าง รวมไปถึงงานหัตถกรรมและของเล่นในสมัยเด็กของอาจารย์

  • ชั้นบน จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพของบางรัก ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับตะวันตก บทบาทของชุมชนตะวันตกที่มีต่อการปฏิรูปประเทศ สถานที่สำคัญในบางรัก บุคคลสำคัญของบางรัก

4. อาคารหลังที่สี่ 

อาคารนี้เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง แต่เดิมเคยใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ปัจจุบันดัดแปลงเป็นสำนักงาน

วันเวลาเปิดทำการ

วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น

 

ค่าเข้าชม

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าชม “ฟรี” ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ที่ตั้ง

273 ซอย สะพานยาว แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *