เรียนออนไลน์ แบบเจ้าของธุรกิจ! ผ่านคลาสเรียนสุดสนุก ในแบบฉบับ “อ.เตย” ขวัญพร บุนนาค

น้องๆ หลายคน คงได้ Learn from Home กันมาช่วงหนึ่งแล้ว คงมีความสงสัยว่าถ้าได้เข้ามาเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยศรีปทุม การเรียนออนไลน์ของเราจะเป็นกันอย่างไร? วันนี้จึงให้ อาจารย์เตย ขวัญพร บุนนาค มาเล่าคลาสเรียนสนุกๆ ในรายวิชาสอนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่ทั้งสนุก ทั้งอิสระ และมีองค์ความรู้ครบถ้วน เจ๋งขนาดนี้ทำได้ยัง มาอ่านกันได้เลยจ้า !!!

อ.เตย ผู้บินไกลลัดฟ้า มาเป็นอาจารย์ตัวจริงที่ ม.ศรีปทุม

สวัสดีนักศึกษาทุกคนค่ะ อาจารย์ชื่อ อาจารย์เตย นะคะ ก่อนมาทำงานในตำแหน่งนี้ อาจารย์ได้ทำงานเป็นนักออกแบบแสงสว่าง (Lighting designer) ต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี โดยทำงานเป็นนักออกแบบแสงสว่างที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียอยู่ 2-3 ปี ก่อนกลับมาทำงานต่อในประเทศไทยต่อ และได้มาทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ตอนนี้เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มาเป็นระยะเวลา 3 ปี กว่าแล้วค่ะ

ห้องเรียนที่อิสระ และผ่อนคลายคือ สไตล์ ของ อ.เตย

เทคนิคในการสอนของอาจารย์คือ ส่วนตัวเราอยากจะสื่อสารกับเด็กๆ ได้ทุกเรื่อง อยากให้ห้องเรียนอิสระ ผ่อนคลาย และอยากให้เด็กกล้าคุยกล้าถามกับอาจารย์ เพราะมองเห็นว่าถ้าจะคุยกับเด็ก ส่วนหนึ่งคือตัวเราต้องเข้าไปอยู่ในโลกแบบเดียวกับเขาก่อน ได้ลองมองมาจากมุมมองของเด็ก สนใจชีวิตที่เขาใช้อยู่ เขากินกาแฟอะไร เที่ยวที่ไหน ดูซีรีย์อะไร ให้เราคุยเรื่องเหล่านี้กับเด็กๆ ได้นอกจากเรื่องเรียน และบางเรื่องเราก็ให้เขาเป็นครูเราได้ อย่างเช่นเรื่องที่เด็กคุยกัน หรือสิ่งต่างๆ ในด้านการใช้ชีวิตในวัยของเขาที่เขาแชร์ออกมา  นั่นก็เป็นสิ่งที่เขาได้สอนและบอกเราได้

สิ่งสำคัญ คือ ต้องใส่ใจเด็กทุกคน

ในส่วนการเรียนการสอน อาจารย์จะถามตลอดว่า เด็กเข้าใจไหม หรือได้ยินว่าเราสอนอะไร มีตรงไหนที่อาจารย์พูดไม่ชัดเจนไหม เพราะสิ่งสำคัญมันไม่ได้มาจากว่าเราสอนอะไรเท่านั้น แต่ขึ้นกับเด็กได้รับอะไรกลับไปค่ะ ดังนั้นในฐานะของอาจารย์ เราต้องรับผิดชอบการสอน การส่งสารความรู้ของตัวเองที่ให้เด็กไป เพราะแม้สิ่งที่เราสอนจะดูเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าสิ่งนี้จะเป็นความรู้ใหม่ของเด็กในเวลาเดียวกัน

ปรับ สไตล์ เรียน ออนไลน์ ให้สะดวกเหมาะกับทุกคน

การเรียนออนไลน์ทำให้มีข้อจำกัดในการเจอกันเพื่อตรวจแบบส่งงานและการแก้ไขงาน แต่อาจารย์ได้รับมือข้อจำกัดจุดนี้ ด้วยการให้นักศึกษาได้ทำงานบนเทมเพลตที่ส่งให้ เพื่อให้นักศึกษาทำงานได้สะดวกรวดเร็ว วิธีนี้จะช่วยลดความผิดพลาดในการทำงาน แถมยังลดความเข้าใจผิดในการเรียนการสอนอีกด้วย เพราะมีตัวอย่างงานที่เสร็จแล้วให้ดูเพิ่มเติมนั่นเอง นอกจากนี้เรายังมีการจัดคลาสที่เชิญวิทยากรภายนอกมาให้ความรู้และบรรยายการเรียนการสอนเพิ่มเติม เพื่อให้เด็กได้พบตัวจริงในสายนั้นๆ ซึ่งมาให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการเรียนที่กำลังเรียนอยู่ นอกจากนั้นยังมีเปิดช่วงเวลา Homeroom ส่วนตัวผ่านโปรแกรมออนไลน์ เพื่อทดแทนเวลาที่หายไปจากการเข้าพบอิสระในมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาด้วยค่ะ

ตัวอย่าง คลาสเรียนสนุก ของ อ.เตย

เล่าถึงวิชา IND381 ซึ่งเป็นรายวิชาที่เรียนร่วมกับสาขาสถาปัตย์ฯ ในรายวิชา Arc401 และ Arc463 ตามนโยบายของ  คณบดี ที่ต้องการให้ นักศึกษาในคณะฯ ได้เรียนข้ามศาสตร์ และสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน (ในคณะฯ เองยังมีรายวิชาอื่นที่ใช้นโยบายนี้ด้วย) โดยได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ร่วมกับ ดร.ชานนท์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะ และประสบการณ์ที่จำเป็นก่อนจบออกไป เป็นนักออกแบบมืออาชีพ ต้องขอบคุณ คณบดี อาจารย์ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์ ที่ให้คำแนะนำ ร่วมกันออกแบบวัตถุประสงค์ของ Term Assignment ทั้ง 2 ช่วง ที่นักศึกษาจะได้ฝึกฝน ผ่านกระบวนการเหล่านี้ (การสื่อสารดี – แก้ปัญหาเป็น – เต็มใจร่วมมือ – ฉลาดสื่อสาร – มีความยืดหยุ่น – รู้จักปรับตัว – รู้จักเข้าสังคม – รับผิดชอบหน้าที่ – หมั่นหาความรู้รอบด้าน) ซึ่งเมื่อจบครบกระบวนการเด็กทุกคนก็จะได้ความรู้การจัดการอย่างมืออาชีพค่ะ

ผลักดันให้เด็กเป็น “เจ้าของธุรกิจ”

ซึ่งใน Assignment 1 เราจะให้นักศึกษาไปสัมภาษณ์บริษัท เพื่อออกแบบบริษัทสถาปนิก หรือบริษัทออกแบบภายในของตัวเอง จัดทำออกแบบเว็บไซต์บริษัทของตนเองและเพื่อนในกลุ่ม งานนี้นักศึกษาได้เรียนรู้ตั้งแต่มารยาทในการติดต่อประสานงาน การเตรียมตัวตั้งคำถาม การทำงานประสานงานกันในกลุ่ม ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกระบวนการแก้ปัญหา เต็มใจร่วมมือ ฉลาดสื่อสาร ความยืดหยุ่น รู้จักปรับตัว และรับผิดชอบหน้าที่ ก่อนจะนำความรู้ตรงนี้มาต่อยอดเป็น Assignment 2 ที่ให้นักศึกษาได้จำลองการจัดตั้งบริษัท จัดตั้งทีมงาน กำหนดรูปแบบบริษัท เพื่อให้นักศึกษาได้ลงมือทำเสมือนเริ่มต้นการเป็นเจ้าของธุรกิจ นักศึกษาจะได้ฝึกฝนการเป็นเจ้าของกิจการ และจะได้ใช้เว็บไซต์นี้ในการทำงานต่อไปในอนาคต เพื่อรับงานออกแบบจริงๆ ระหว่างเรียนได้ด้วย

อนาคต หากเรายังต้อง เรียนออนไลน์ ต่อ ???

สิ่งที่อาจารย์คิดต่อ หากเรายังคงต้องเรียนออนไลน์ คือ สร้างตารางการสอน และการเข้าพบอิสระที่ชัดเจนขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมานักศึกษาอาจมีการเลื่อนเข้าพบอยู่บ้าง เนื่องจากติดงานหรือเรื่องส่วนตัว ทำให้การส่งงานประสานงานและการทำงานนอกเหนืองานสอนได้รับผลกระทบ นอกจากนี้สิ่งที่จะทำอีกอย่างคือการเตรียมคลิปการสอน การเตรียมตัวอย่างงานให้ดูเข้าใจง่าย และปรับการสอนที่สั้นลง แต่เน้นให้นักศึกษาได้พูดคุยกันผ่านช่องทาง Breakout Rooms ในโปรแกรม Zoom เพื่อทำให้บรรยากาศสบายๆ เหมือนอยู่ในห้องเรียนมากยิ่งขึ้นค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *