สองหัวใจสุภาพบุรุษ ม.หอการค้าไทยช่วยผู้ประสบภัยอุบลราชธานี  

 

          จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ช่วงเดือนกันยายน 2562ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งวิกฤติหนักสุดในรอบ 17 ปี โดยระดับแม่น้ำมูลล้นตลิ่งอยู่ที่ 115.88 ม.รทก. ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงการน้ำท่วมครั้งนี้เป็นอย่างมาก ทุกภาคส่วนต่างให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงรวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมกันอย่างต่อเนื่อง

            ล่าสุดนายวีรพัฒน์ อึ้งอร่ามและนายแทนทอง ทองสุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นักศึกษาที่สำเร็จหลักสูตรกู้ชีพทางน้ำเป็นหลักสูตรของกรมแพทย์ทหารเรือ เป็นหลักสูตรที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติมีการผลักดันให้ประเทศไทยมีการฝึกหลักสูตรนี้อย่างจริงจัง ได้เข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานีในการเข้าพื้นที่นำท่วมขนย้ายผู้ป่วยติดเตียงและขนย้ายหนังสือเรียน ข้อสอบของนักเรียนโรงเรียนบ้านกุดกั่ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี เขต1

นายวีรพัฒน์ อึ้งอร่าม (น้องเบนซ์) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประธานชมรมอาสาสมัครกู้ชีพUTCC มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าว่า “ผมเป็นอาสาสมัครกู้ภัยอยู่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปช่วยผู้ประสบภัยในนามของอาสาสมัครกู้ภัยประชาชนทั่วไป พอผมได้ลงไปเห็นความยากลำบากของคนที่เขาประสบภัยก็อยากจะให้คนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และบุคคลอื่น ๆ ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำความดีช่วยเหลือคนที่ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้ ผมเดินทางไปกับทีมกู้ภัยเป็นระยะเวลา 3 วัน 3 คืน ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บที่สูงอายุไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เป็นหลัก แต่การที่ทีมกู้ภัยจะลงเรือไปยังจุดที่ได้รับแจ้งเขามาว่าต้องมีการอพยพผู้ป่วย ทีมกู้ภัยจะมีการประชุมร่วมกันว่าใครที่มีศักยภาพอะไร เช่น คนที่มีการฝึกกู้ชีพทางน้ำมานั้นต้องเป็นคนที่ลงไปที่เรือ เพราะเวลาที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่ได้รับบาดเจ็บทางน้ำ ทีมที่มีการฝึกก็ชีพทางน้ำมานั้นจะมีทักษะการช่วยชีวิตทางน้ำ หรือนำตัวของผู้บาดเจ็บขึ้นเรือได้อย่างถูกวิธีและถูกต้อง แต่สิ่งแรกเราที่สำคัญที่ต้องคำนึงตลอดเวลา คือความปลอดภัยของตัวเองก่อน ถ้าหากเราเป็นอะไรไปก็จะไม่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ เพราะฉะนั้นคนที่จะลงไปในเรือกู้ภัยต้องมีการฝึกฝน เรียนรู้ด้านการกู้ชีพทางน้ำมาเบื้องต้นถึงจะสามารถลงไปช่วยผู้ประสบภัยในสถานที่ที่มีความอันตรายได้”

          นายแทนทอง ทองสุวรรณ (น้องแทน) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กรรมการชมรมอาสาสมัครกู้ชีพUTCC มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “หน้าที่ที่เราทำในการช่วยเหลือผู้ป่วยน้ำท่วมครั้งนี้ คือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุโดยต้องเคลื่อนย้ายเขามาในที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงชั่วคราว แต่กรณีที่ค่อนข้างยากครั้งนี้น่าจะเป็นโรงเรียนบ้านกุดกั่ว ซึ่งทางคุณครูได้มีการขอให้หน่วยกู้ภัยเข้าไปช่วยชนย้ายเอกสารการสอบของเด็ก ๆ หนังสือเรียน เอกสารที่จำเป็นออกมาข้างนอก  เพราะว่าตอนนั้นอยู่ที่ชั้น 2 ประกอบกับปริมาณน้ำในตอนนั้นมันเริ่มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คุณครูเลยขอให้ทางหน่วยกู้ภัยช่วยไปขนออกมา ซึ่งวิธีการขนนั้นเราต้องให้คนที่เก่งที่สุดเป็นคนนำเชือกไปผูกไว้กับจุดหมายที่เราจะไปเพื่อที่จะใช้เชือกเป็นตัวนำทางให้คนอื่น ๆ ตามไปได้อย่างถูกต้องและไม่ออกนอกทาง แต่ประกอบกับกระแสน้ำในโรงเรียนนั้นมีความเชี่ยวมากพอสมควรมันจึงยากสำหรับพวกเรา แต่ด้วยความที่เราเป็นอาสาสมัครก็ภัยเราก็ต้องพยายามทำออกจนมันสำเร็จ”

          “บางตำบลที่เราเข้าไปช่วยเหลือมีระยะทางที่ห่างไกลจากศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิง ประชาชนที่อยู่ในที่ที่ห่างไกลจากศูนย์ก็ไม่อยากที่จะเดินทางออกมาก็เลยเก็บตัวเองอยู่ที่บ้านในชั้น 2 แต่กระแสไฟฟ้าทั้งหมดในบริเวณทีเกิดน้ำท่วมนั้นจะมีการถูกตัดทั้งหมด ซึ่งผู้ประสบภัยที่ไม่ยอมออกมาก็จะมีการใช้ชีวิตอย่างลำบาก  อยากให้ผู้ประสบภัยเฝ้าฟังคำสั่งของผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น หรือทางการว่าจะมีเหตุการณ์อะไรตอนไหน ถ้าเขามีการสั่งให้อพยพก็ควรที่จะเตรียมตัวเพื่ออพยพ แต่หลัก ๆ จากที่เราลงพื้นที่มานั้นคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยยอมอพยพ แต่ซึ่งในอนาคตภัยพิบัติมันก็เริ่มมีความน่ากลัวมากขึ้นทุกวัน สิ่งที่อยากแนะนำที่สุดคือเวลาทีเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ แนะนำให้ฟังคำสั่งของทางการดีที่สุด แต่ถ้าในกรณีที่น้ำมันมาเร็วกกว่าการแจ้งเตือนเช่นกรณีที่ฝนตกหนักมากเกินกว่าที่เราเคยรู้สึกได้ เราก็ควรที่จะมีการเตรียมไว้ก่อนในส่วนของกระเป๋าถุงยังชีพ สัมภาระที่จำเป็น และเมื่อน้ำมันมาเราก็ควรที่จะอยู่ที่สูงไว้ก่อนเพื่อเอาตัวรอดเป็นอันดับแรก” น้องเบนซ์ ประธานชมรมอาสาสมัครกู้ชีพUTCC กล่าวทิ้งท้าย