สุดอาลัย! สูญเสีย “ผศ.ดร.ชื่นอารมณ์ ภาระพฤติ” ผู้มีคุโณปการต่อวงการว่ายน้ำและผู้บุกเบิกกีฬาระบำใต้น้ำของไทย

ชมรมว่ายน้ำมรภ.สวนสุนันทา โดยกองพัฒนานักศึกษาและรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาร่วมไว้อาลัยแด่ ผศ.ดร.ชื่นอารมณ์ ภาระพฤติ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและคณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้มีคุโณปการต่อวงการว่ายน้ำและผู้บุกเบิกกีฬาระบำใต้น้ำของไทย
กีฬาระบำใต้น้ำได้เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก โดย ผศ.ดร.ชื่นอารมณ์ ภาระพฤติ ซึ่งสมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้ส่ง ผศ.ดร.ชื่นอารมณ์ ภาระพฤติ ไปเข้ารับการอบรมผู้ฝึกสอนกีฬาระบำใต้น้ำกับสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ (FINA) ที่ประเทศญี่ปุ่นและเข้ารับการอบรม เป็นผู้ตัดสินกีฬาระบำใต้น้ำ 2 ครั้ง โดยครั้งแรก ผศ.ดร.ชื่นอารมณ์ ได้เดินทางไปอบรมผู้ตัดสินระบำใต้น้ำที่ประเทศกรีซ และต่อมาได้เดินทางไปอบรมที่ประเทศนิวซีแลนด์
เริ่มแรก นักกีฬาระบำใต้น้ำทีมแรกของประเทศไทย มาจากนักกีฬาว่ายน้ำของสโมสรว่ายน้ำโรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ทั้งหมด และฝึกซ้อมโดยใช้เวลาว่างจากการฝึกซ้อมว่ายน้ำมาฝึกระบำใต้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งการเล่นระบำใต้น้ำในสมัยนั้นมีจุดมุ่งหมายของการเล่น คือ เพื่อเผยแพร่กีฬาระบำใต้น้ำให้บุคคลทั่วไปรู้จักกีฬาระบำใต้น้ำให้มากขึ้นโดยนักกีฬาระบำใต้น้ำไทยชุดแรก ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระบำใต้น้ำที่ประเทศญี่ปุ่น 1 ครั้ง ตามคำเชิญของทีมระบำใต้น้ำของประเทศญี่ปุ่น เพื่อจุดประสงค์ที่จะช่วยพัฒนากีฬาระบำใต้น้ำของประเทศไทย
ต่อมาในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่ประเทศอินโดนีเซีย มีการบรรจุกีฬาระบำใต้น้ำในการแข่งขัน ทำให้วัตถุประสงค์การเล่นระบำใต้น้ำเปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นการเผยแพร่กีฬาระบำใต้น้ำให้เป็นที่รู้จัก มาเป็นการเล่นระบำใต้น้ำเพื่อการแข่งขันเพื่อชัยชนะ ดังนั้นจึงมีการคัดตัวนักกีฬาระบำใต้น้ำขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเริ่มมีการฝึกซ้อมเป็นระบบของนักกีฬามากขึ้นโดยผู้ฝึกสอนและนักกีฬาต้องศึกษากฎกติกา ท่าทางพื้นฐาน (FIGURE) ของระบำใต้น้ำ ตามหนังสือกฎกติกากีฬาระบำใต้น้ำของ FINA ด้วยตนเอง
กีฬาระบำใต้น้ำได้มีการพัฒนาอย่างจริงจัง เมื่อประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 โดยครั้งนั้น ผศ.ดร.ชื่นอารมณ์ ได้ทำการติดต่อผู้เชี่ยวชาญจากประเทศนิวซีแลนด์ มาเป็นผู้ฝึกสอนระบำใต้น้ำและช่วยในการจัดการแข่งขันกีฬาระบำใต้น้ำทั้งหมดในประเทศไทย
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ทำการฝึกสอนท่าพื้นฐาน (FIGURE) ต่างๆที่เป็นมาตรฐานสากลให้แก่ผู้ฝึกสอนและนักกีฬาชาวไทย แต่เนื่องจากไม่มีการบรรจุกีฬาระบำใต้น้ำในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 20 ที่ประเทศบรูไน ประกอบกับนักกีฬาที่ทำการฝึกซ้อมอยู่มีอายุมากขึ้น ทำให้นักกีฬาชุดเดิมเลิกทำการฝึกซ้อมทั้งทีม
จึงทำให้เกิดนักกีฬาชุดใหม่ขึ้นมาทดแทนโดยรับสมัครจากผู้สนใจระบำใต้น้ำมาทำการฝึกซ้อม (ไม่ได้อยู่เฉพาะแค่สโมสรว่ายน้ำโรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์) โดยนักกีฬาที่สมัครมาฝึกซ้อม มาจากนักกีฬาว่ายน้ำบ้าง นักกีฬายิมนาสติกบ้าง และบุคคลทั่วไปที่สนใจบ้าง โดยรายชื่อนักกีฬาระบำใต้น้ำ รุ่นแรก มีดังนี้ นันทมาส (ณัฐพัชร์) บุณยาขุ, ทัสมา ยอดศรีมงคล, กมลกาญจน์ หินวิมาน, รำภาพรรณ (ชนัญญา) กิตอำนวยพงศ์, ธัญญลักษณ์ สกุลคง, สิริลักษณ์ สินทิพย์ภูทอง, ขัตติยา สกุลคง และ วาทินี ยอดศรีมงคล
นักกีฬาที่ผ่านการคัดตัวจากสมาคมว่ายน้ำสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ได้ส่งเข้าร่วมการแข่งขัน 2 รายการ คือ การแข่งขันระบำใต้น้ำ ในรายการ asian age group swimming championship ครั้งที่ 1 ที่ฮ่องกง และ ซีเกมส์ครั้งที่ 21 ที่มาเลเซีย โดยทั้ง 2 รายการนี้ได้รับการฝึกสอนจากโค้ชชาวจีนเป็นระยะเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นโค้ชชาวรัสเซีย และต่อมากีฬาระบำใต้น้ำไทยจึงได้รับการพัฒนาจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ควบคู่ไปกับกีฬาระบำใต้น้ำ คือการที่ทีมว่ายน้ำไทยคว้าชัยในระดับเอเชียนเกมส์และซีเกมส์ ที่นำโดย ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร, รติพร วอง, รัฐพงศ์ ศิริสานนท์, นิธิ อินทรพิชัย, ระวี อินทพรอุดม, ต่อลาภ เสฏฐโสธร, ประพาฬสาย มินประพาฬ, วิชา รัตนโชติ, ชลธร วรธำรง, ต่อวัย เสฏฐโสธร, ไพลิน เตชะกฤตธีรนันท์ เป็นต้น และยังมีกีฬากระโดดน้ำ อย่าง สุชาติ พิชิ, สุขฤทัย ธรรมโอรส, สุรีรัตน์ อรรถอินทรีย์, สมชาย องคสิงห์
อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้กีฬาระบำใต้น้ำยังคงมีและยังแข่งขันอยู่อย่างต่อเนื่องมีการส่งแข่งและเก็บตัวต่างประเทศเพื่อเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันมหกรรมกีฬาหากมีการบรรจุกีฬาชนิดนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *