เปิดคลาสเรียน-สอนออนไลน์ อาจารย์ม.รังสิต มาตรการปรับตัวสู้โควิด-19

จากกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรัฐบาลมีการประกาศปิดสถานศึกษาชั่วคราว เพื่อควบคุมการระบาดของโรค สถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยรังสิต ได้ปรับ “การเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์” แทนการบรรยายในชั้นเรียน

อาจารย์พิพัฒน์พงศ์ ยาลังกาญจน์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และหัวหน้าสาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรม คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) และรัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษา ในการงดการเรียนการสอนในห้องเรียนเพื่อไม่เพิ่มการแพร่กระจายของเชื้อโรค และความเสี่ยงเนื่องจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีจำนวนมาก มหาวิทยาลัยรังสิตได้ดำเนินการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีศูนย์ RSU Cyber University ม.รังสิต ให้คำแนะนำแก่อาจารย์ผู้สอนในเรื่องของการใช้เครื่องมือต่างๆ สำหรับจัดการเรียนการสอนออนไลน์ หรือที่เรารู้จักว่า education technology นับได้ว่าปรากฎการณ์ครั้งนี้เสมือนการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ในการปฏิรูปวงการการศึกษาในประเทศไทยก็ว่าได้ ที่บุคลากรทางด้านการศึกษาต้องหันมาใช้เครื่องมือ และนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสื่อและสนับสนุนการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาอย่างเต็มรูปแบบในการเรียนการสอนยุคศตวรรษที่ 21 โดยสำหรับโปรแกรมที่อาจารย์ม.รังสิต เลือกนำมาใช้มีทั้ง Zoom, Google Meet, Line, Facebook, Webex เป็นต้น ขึ้นอยู่กับลักษณะและความเหมาะสมของการเรียนการสอนของแต่ละวิชาด้วย

 “ภายหลังปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ ในฐานะอาจารย์ผู้สอนก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมและศึกษาเครื่องมือ อุปกรณ์ และโปรแกรมที่จะนำมาใช้ในการสอนออนไลน์กับนักศึกษา ซึ่งระยะเวลาสองอาทิตย์ที่ผ่านมากับการปรับเปลี่ยนเป็นการสอนเป็นออนไลน์เต็มรูปแบบก็ถือว่าผ่านไปด้วยดี แม้ว่าช่วงแรกอาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะไม่ได้เป็นการเรียนการสอนแบบ face to face ที่อาจารย์และนักศึกษาสามารถตอบโต้กันได้ทันที แต่ก็ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถเป็นตัวช่วยได้อย่างดี โดยสำหรับตนเองได้ใช้โปรแกรม Zoom ในการบรรยายรายวิชาที่สอน เนื่องจากเป็นคลาสเรียนที่มีผู้เรียนเกือบ 100 คน อาจารย์และนักศึกษาสามารถพูดคุยตอบโต้กันได้ อาจารย์เองก็ต้องมีการเตรียมตัวก่อนเข้าชั้นเรียนออนไลน์ นอกจากเตรียมอุปกรณ์ในการสอนออนไลน์ เช่น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ้ค สมาร์ทโฟน ไอแพด ไฟ (เพื่อเพิ่มความสว่าง) แบตสำรอง เป็นต้น รวมทั้งต้องเตรียมสื่อการสอนที่เหมาะกับการเรียนการสอนออนไลน์ ต้องมั่นใจว่าจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจได้ง่าย และเหมาะสมกับโปรแกรมการสอนที่เลือกใช้ เรียกว่าทั้งผู้สอนและผู้เรียนจะต้องเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนถึงเวลาเรียนไปพร้อมกัน ซึ่งก็ผ่านไปด้วยดี ขณะเดียวกันอาจจะมีข้อจำจัดบ้างในเรื่องของสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่อาจจะดีเลย์บ้าง แต่ก็พยายามเตรียมพร้อมสำหรับการสอนให้มากที่สุด เพราะคุณภาพการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนในรูปแบบใดผู้เรียนต้องได้รับข้อมูลความรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากเราเริ่มกระบวนการเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ คงจะไม่ใช่เรื่องยากที่การเรียนการสอนออนไลน์ จะได้รับความนิยมจากสถาบันการศึกษา ซึ่งเราต้องมาร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน” อาจารย์พิพัฒน์พงศ์ กล่าวเพิ่มเติม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *